สัปดาห์ที่ผ่านสหรัฐฯ รายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อดัชนีราคาผู้บริโภค CPI เดือน ก.ค. ที่ 5.4%YoY ใกล้เคียงกับที่ตลาดคาด โดยหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงคือการขาดแคลนแรงงานหลังจากการกลับมาเปิดเมือง ส่งผลให้อัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้นกระทบต่อราคาสินค้าและบริการ แต่สิ่งที่ตรงกันข้ามคือตัวเลข Job Openings เดือน มิ.ย. ที่รายงานว่านายจ้างมีตำแหน่งงานว่างเปิดรับอยู่สูงถึง 10 ล้านตำแหน่ง มากกว่าจำนวนคนว่างงานที่ 8.7 ล้านคน สะท้อนแรงงานยังไม่กลับเข้าไปทำงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสวัสดิการว่างงานพิเศษที่ได้จากรัฐบาลและความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ อย่างไรก็ตามหลายรัฐเริ่มมีการยุติการให้สวัสดิการว่างงานพิเศษลง เพราะฉะนั้นตลาดแรงงานน่าจะฟื้นตัวได้ดีในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า ส่งผลให้เฟดอาจส่งสัญญาณลดขนาด QE ในช่วงที่เหลือของปีนี้
ปัจจุบันสหรัฐฯ และยุโรปได้รายงานผลประกอบการไตรมาส 2 ออกมาเกือบจะครบทุกบริษัทแล้ว โดยดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ มีกำไรรวมมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาด 17.2% และส่วนใหญ่ 87% ของ 456 บริษัทที่รายงานออกมามีกำไรมากกว่าคาด ขณะที่ไตรมาสนี้ ดัชนี STOXX600 ของยุโรป มีกำไรรวมมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาด 28.2% มากกว่าดัชนี S&P500 นอกจากนี้การปรับประมาณการกำไรของดัชนี STOXX600 ในปีนี้ยังใกล้เคียงอยู่ในระดับเดียวกันกับ ดัชนี S&P500 ถือเป็นการปรับประมาณการกำไรที่ดีที่สุดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศจีน ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องในเดือน ก.ค. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมโตลดลงเหลือ 6.4% ต่ำกว่าคาดที่ 7.8% ยอดค้าปลีกโตลดลงเหลือ 8.5% ต่ำกว่าคาดที่ 11.5% เงินให้สินเชื่อใหม่ของสถาบันการเงินลดลงจาก 2.1 ล้านล้านหยวนในเดือน มิ.ย. เป็น 1.08 ล้านล้านหยวนในเดือน ก.ค. ต่ำกว่าคาดที่ 1.2 ล้านล้านหยวน ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางจีนจะกลับเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปีนี้ และจะส่งผลตลาดหุ้นจีนฟื้นตัวได้ดีในไตรมาสที่ 4