HoonSmart.com>>ผู้ว่าธปท.ยันมาตรการคลังจำเป็นในการพยุงเศรษฐกิจ แนะรัฐบาลกู้อีก 1 ล้านล้านบาท หนุนจีดีพีโตใกล้ศักยภาพ แม้ระยะสั้นดันหนี้สาธารณะพุ่งแตะ 70% ของจีดีพี แต่ไม่น่าห่วง อนาคตรัฐจัดเก็บรายได้ชดเชย มั่นใจไม่กระทบเรตติ้งประเทศ
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการ Meet the Press หัวข้อ”จับอาการเศรษฐกิจ สร้างทางออกวิกฤตไทย” ว่า การรับมือสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงและยาวนานมากขึ้นกว่าที่คาดไว้ มาตรการด้านการคลังจะมีบทบาทและความจำเป็นอย่างมากที่จะเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย โดยจะต้องให้ความสำคัญเร่งด่วนกับมาตรการการคลังที่ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจหรือมีตัวคูณ (multiplier) สูง เช่น มาตรการที่รัฐช่วยออกค่าใช้จ่าย (co-pay) อาทิ มาตรการคนละครึ่ง และมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ จับอาการเศรษฐกิจ สร้างทางออกวิกฤตไทย
โดยของรายได้ที่จะหายไป (ประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท ระหว่างปี 2563-2565) เม็ดเงินของภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันคงไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้นทางการคลังเพื่อช่วยให้รายได้และฐานะทางการเงินของประชาชนและ SMEs กลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็วที่สุด และลดแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่จะกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจหลังโควิด ซึ่งในเบื้องต้น เม็ดเงินจากภาครัฐที่เติมเข้าไปในระบบควรมีอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 7% ของ GDP
การกู้เงินเพิ่มของภาครัฐจะช่วยให้ GDP กลับมาโตใกล้ศักยภาพเร็วขึ้น และจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระยะยาวปรับลดลงได้เร็วกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่ม โดยในกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 70% ของ GDP ในปี 2567 และจะลดลงได้ค่อนข้างเร็วตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็ว เนื่องจากฐานภาษีจะไม่ได้ลดลงจากแผลเป็นของเศรษฐกิจมากนัก เมื่อเทียบกับกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม พบว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในอีก 10 ปีข้างหน้า (ปี 2574) จะต่ำกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่มเติมถึงกว่า 5% ดังนั้น หากรัฐบาลไม่เร่งพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมในภาวะที่ความไม่แน่นอนสูง เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตยืดเยื้อ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP แม้จะเพิ่มขึ้นช้า แต่จากการประมาณการ คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงและปรับลดลงได้ไม่มากนักในระยะยาว
ปัจจุบัน เสถียรภาพทางการคลังของไทยยังแข็งแกร่ง ภาครัฐยังมีศักยภาพในการก่อหนี้เพิ่มเติมเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ เนื่องจาก (1) หนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในระดับต่ำก่อนโควิด โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 42% ณ ธันวาคม 2562 และเพิ่มขึ้นในช่วงโควิดประมาณ 14% (56% ณ มิถุนายน 2564) ซึ่งยังน้อยกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 19% (2) หนี้สาธารณะของไทยเกือบทั้งหมดเป็นหนี้ในประเทศ (3) ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลไทยอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะ 10 ปีของไทยที่ ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2564 อยู่ที่ไม่ถึง1.6 % ซึ่งต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของอาเซียน
และในช่วงที่ผ่านมาแนวโน้มหรือ outlook ของการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยเป็น คงที่ โดยมีฐานะการคลังและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเป็นจุดแข็ง ขณะที่ความกังวลของบริษัทจัดอันดับส่วนใหญ่จะอยู่ในประเด็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางของไทยเพราะยังพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง และประเด็นเสถียรภาพทางการเมืองเป็นหลัก
ทั้งนี้ เพื่อรักษาความยั่งยืนทางการคลังของประเทศ และเพิ่ม room ของการทำนโยบายไว้รองรับภาระทางการคลังและความเสี่ยงในอนาคต รัฐบาลต้องมีมาตรการรัดเข็มขัดในระยะปานกลาง เพื่อให้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP กลับลงมาในระยะข้างหน้า โดยหากภาครัฐทำให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวตามศักยภาพได้เร็ว จะช่วยเร่งการเข้าสู่ความยั่งยืนทางการคลังได้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากฐานภาษีและความสามารถในการจัดเก็บภาษีจะเพิ่มขึ้น เช่น กรณีเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว หากรัฐบาลเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 1% จะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะลดลงเพิ่มเติมได้อีกประมาณ 0.33% ต่อ GDP
“ปัญหาที่รุนแรง รายได้ที่หายไปมีขนาดใหญ่มาก เม็ดเงินจากมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐในปัจจุบันคงไม่เพียงพอที่จะชดเชยเพื่อแก้ปัญหาให้ได้โดยเร็ว ดังนั้น เพื่อผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ จะเป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ที่ต้องช่วยกัน” ผู้ว่าการธปท.กล่าว