HoonSmart.com>>สศช. ปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปี 64 เหลือโต 0.7-1.2% จากเดิม 1.5-2.5% ขณะที่ไตรมาส 2 โต 7.5% ส่งผล 6 เดือนแรกของปีขยายตัว 2% จากฐานที่ต่ำในปีก่อนและการส่งออกฟื้นตัว
นายอนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 64 น่าจะขยายตัวในช่วง 0.7 – 1.2% ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จากการลดลง 6.1% ในปี 2563 โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 1% ซึ่งปรับลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดเติบโต 1.5-2.5% โดยมีสมมติฐานจากการแพร่ระบาดภายในประเทศจะผ่านพ้นจุดสูงสุดในช่วงปลายเดือนส.ค. และสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมในหลายพื้นที่ได้มากขึ้น ขณะที่การแพร่ระบาดในต่างประเทศไม่รุนแรงมากขึ้น
โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก (2) แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ และ (3) ฐานการขยายตัวที่ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติทั้งนี้คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. จะขยายตัว 16.3% ขณะที่การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 1.1% และ 4.7% ตามลำดับ ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 8.7% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.0 – 1.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2.0% ของ GDP
ส่วนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2564 ขยายตัว 7.5% ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลง 2.6% ในไตรมาสแรกของปี 2564 และเป็นการกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกแรกในเดือนเมษายน 2563 ด้านการใช้จ่ายการส่งออกสินค้าและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเร่งขึ้น การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัว
ขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐชะลอลง และการส่งออกบริการลดลง ด้านการผลิต สาขาการผลิตอุตสาหกรรมและสาขาเกษตรกรรมขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาการขายส่งการขายปลีกและการซ่อมแซมฯ และสาขาไฟฟ้าและก๊าซฯกลับมาขยายตัว ขณะที่สาขาการก่อสร้างชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2564 ขยายตัวจากไตรมาสแรกของปี 2564 ที่ 0.4% (QoQ_SA) รวมครึ่งแรกของปี 2564เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.0%
“เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย แต่มีโมเมนตัมที่จะขยายตัวลดลง ซึ่งเป็นผลจากการระบาด เนื่องจากวิกฤตที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นเรื่องของโรคระบาด ไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจเหมือนครั้งที่ผ่านมา “ เลขาธิการ สศช. กล่าว
สำหรับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2564 นายอนุชา กล่าวว่า ควรให้ความสำคัญกับ
(1) การควบคุมสถานการณ์การระบาดให้อยู่ในวงจำกัดโดยการเพิ่มประสิทธิผลในการลดการแพร่เชื้อในครัวเรือน ชุมชน และกลุ่มแรงงาน และการเร่งรัดจัดหาและการกระจายวัคซีนอย่างเพียงพอและทั่วถึง
(2) การช่วยเหลือเยียวยาประชาชน แรงงาน และภาคธุรกิจในช่วงที่การระบาดของโรคมีความรุนแรงและมีการดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด
(3) การดำเนินมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเมื่อสถานการณ์การระบาดผ่อนคลายลง โดยให้ความสำคัญกับมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวภายในประเทศ
(4) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า โดยการควบคุมการแพร่ระบาดในฐานการผลิตที่สำคัญ
(5) การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
(6) การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน
(7) การรักษาบรรยากาศทางการเมืองและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ