TU ปรับลดเป้ายอดขายปีนี้ลงจากเดิมที่คาดจะเติบโต 5% เหลือเป็นไม่ให้น้อยกว่าปีที่แล้ว หลังโดนผลกระทบค่าบาทที่แข็งค่าขึ้น 9% เทียบกับปีก่อน
นายบัลลังก์ ไวยานนท์ ผู้จัดการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) เปิดเผยว่า ปีนี้บริษัทจะพยายามรักษายอดขายไม่ให้ต่ำกว่าปีที่แล้วที่มียอดขาย136,535 ล้านบาท จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโต 5% เนื่องจากบริษัทได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีแรกที่แข็งค่า 9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่งผลให้ครึ่งปีแรกยอดขายลดลงเหลือ 63,839 ล้านบาท ลดลง 3.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มียอดขาย 66,244 ล้านบาท ในขณะที่ยอดขายในสหรัฐช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 38% ของรายได้รวม ยังสามารถเติบโตได้ที่ระดับ 3% เมื่อเทียบกับปีก่อน
“ยอดขายในรูปเงินบาทช่วงครึ่งปีแรกที่ลดลง เป็นผลมาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นตัวเดียวเลย ส่วนครึ่งปีหลังเราจะรักษายอดขายไม่ให้ติดลบ และพยายามรักษายอดขายทั้งปีไม่ให้ติดลบเช่นกัน”นายบัลลังก์กล่าว
นายบัลลังก์ กล่าวว่า ในช่วงครึ่งหลังปีนี้บริษัทตั้งเป้าเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นเป็น 14-15% จากครึ่งปีแรกที่ทำได้เพียง 12.6% และทั้งปีจะรักษาอัตรากำไรขั้นต้นให้ใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่ 13.8% รวมทั้งจะควบคุมค่าใช้จ่ายต่อยอดขายให้อยู่ที่ไม่เกิน 10.5% ซึ่งปีนี้บริษัทมีแผนลดค่าใช้จ่ายต่างๆลง 1,000 ล้านบาท โดยจะเห็นความชัดเจนไตรมาส 4
สำหรับงบลงทุนปีนี้ที่ตั้งไว้ 4,500 ล้านบาท ใช้ลงทุนในธุรกิจปกติแล้ว 2,500 ล้านบาท ส่วนงบที่นำไปลงทุนในบริษัทธรรมชาติ ซีฟู้ด และบริษัท TUMD ในรัสเซีย เป็นงบที่แยกต่างหาก จึงเหลืองบลงทุนในธุรกิจปกติและการเข้าซื้อกิจการอีก 2,000 ล้านบาท
นายบัลลังก์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่บริษัทยอมจ่ายค่าชดเชยให้ร้านค้าปลีก Walmart ในคดีที่ถูกฟ้องร้องภายใต้คดีต่อต้านการผูกขาด ส่งผลให้บริษัทตั้งสำรองค่าใช้จ่าย 44 ล้านเหรียญสหรัฐ และทำให้กำไรสุทธิของบริษัทในช่วงไตรมาส 2 ลดลงเหลือ 9 ล้านบาท จากที่มีกำไรจากการดำเนินการปกติ 1,368 ล้านบาทนั้น ถือเป็นคดีใหญ่ที่ทำให้บริษัทต้องตั้งสำรองมากที่สุดในรอบ 21 ปี อย่างไรก็ตาม บริษัทมั่นใจการฟ้องร้องและแพ้คดีใหญ่ๆลักษณะนี้ในอนาคตจะมีเปอร์เซ็นเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะคดีดังกล่าวทำให้บริษัทมีบทเรียน และปิดช่องโหว่ที่จะทำให้เกิดความเสียหายแบบนี้อีก
ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 2 บริษัทมีหนี้สินอยู่ที่ 64,951 ล้านบาท หรือคิดเป็นหนี้สินต่อทุนที่ 1.41 เท่า ขณะที่บริษัทมีนโยบายลดสัดส่วนหนี้สินต่อทุนให้อยู่ที่ไม่เกิน 1-1.2 เท่า