ต่างชาติทิ้งหุ้นไทย 7 พันล. หนีตลาดเกิดใหม่กดดันค่าเงิน

วิกฤต”ตุรกี”หนุนดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า กดดันเงินไหลออกจากตลาดหุ้นเกิดใหม่ ต่างชาติทิ้งไทย 7,203 ล้านบาท ธนาคารกลางอินโดนีเซีย-อาร์เจตินาขึ้นดอกเบี้ยสกัด และพยุงค่าเงิน ทองคำในประเทศต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี 8 เดือน สหรัฐและจีนจะเปิดฉากการเจรจารอบใหม่เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งด้านการค้า

ราคาสินทรัพย์ในตลาดโลกปรับตัวลงแรง ตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่ยังคงอ่อนตัวลง ส่วนดัชนีหุ้นไทย บวก 4.67 จุดปิดที่ระดับ 1,680.96 จุด แม้ว่านักลงทุนต่างชาติขายหุ้นออกมามากถึง 3,099 ล้านบาท ทิ้งหนักๆติดต่อกันเป็นวันที่สาม (วันที่ 14-16 ส.ค.รวม 7,203 ล้านบาท) และขายตราสารหนี้เล็กน้อย 629 ล้านบาท

ฝ่ายวิจัยบล.เอเซียพลัสเชื่อว่า เงินทุนไหลออกได้ลุกลามมายังประเทศกำลังพัฒนาในแถบเอซีย ที่พึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เห็นได้จากค่าเงินของประเทศเหล่านี้ อ่อนค่ามากสุดในภูมิภาค ทำให้ธนาคารกลางอินโดนีเซีย เรียกประชุมพิเศษ พร้อมประกาศขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 4 ของปีนี้ อีก 0.25% เป็น 5.5% เพื่อสกัดกั้นเงินทุนไหลออก เช่นเดียวกับธนาคารกลางอาร์เจนตินา ปรับขึ้นดอกเบี้ย 5% เป็น 45% เพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อที่สูงถึง 31.21% และสกัดกั้นเงินทุนไหลออก

บล.เอเซียพลัสระบุว่า วันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา ต่างชาติขายหุ้นเอเชียกว่า 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงการขายหุ้น และยังชอร์ตสุทธิสัญญา SET50 Futures อีก 5,000 สัญญา โดยเป็นการชอร์ตต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 รวมกว่า 2.31 หมื่นสัญญา ขณะเดียวกันต่างชาติกลับเข้าซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทยกว่า 1.31 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย(Bond Yield )อายุ 10 ปี อยู่ที่ 2.72% ยังต่ำกว่า Bond Yield 10 ปีของสหรัฐฯที่ 2.86% จึงเชื่อว่ายังกดดันให้เงินทุนต่างชาติมีโอกาสไหลกลับไปหาตลาดตราสารหนี้ ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า

ทางด้านราคาทองคำที่ทรุดลงแรง นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ไตรมาส 2/2561 การซื้อขายของทองคำอยู่ในสภาวะซบเซาต่อเนื่องจนในระหว่างการซื้อขายของเช้าวันที่ 16 ส.ค. ราคาทองคำอ่อนตัวลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบ 18 เดือนครั้งใหม่บริเวณ 1,160 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำในประเทศขายออกร่วงลงแตะระดับต่ำสุดที่ 18,550 บาทซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี 8 เดือน หรือ ต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.2559

“ราคาทองคำได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์จากแนวโน้มธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ย และข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า กระตุ้นแรงซื้อสกุลเงินดอลลาร์ ล่าสุดดัชนีดอลลาร์พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือนและกองทุน SPDR ซึ่งเป็นกองทุน ETF ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ลดการถือครองทองคำลงจนล่าสุดเหลือเพียง 776.65 ตัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2559” นางพวรรณ์กล่าว