ADVANC ผนึกพันธมิตร เสิร์ฟโซลูชั่น e-F@ctory ยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย

HoonSmart.com>> “แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส” ร่วมมือพันธมิตร “มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) ” และ “ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น” นำเสนอโซลูชั่น e-F@ctory ยกระดับภาคการผลิต ใช้งานบนเครือข่าย 5G เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทั้งคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิต สนองการใช้งานในเครือข่ายเฉพาะ เพิ่มความปลอดภัยของข้อมูล เร็วขึ้น ลดความหน่วงการทำงาน เป้าหมายเพิ่มลูกค้า 1,000 โรงงานทุกอุตสาหกรรม

นายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) เปิดเผยว่า บริษัทเป็นผู้พัฒนาการใช้งานเครือข่าย 5G และการขยายศักยภาพการใช้งาน 5G สู่ภาคอุตสาหกรรม โดยได้ร่วมมือกับบริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) ที่มีความแข็งแรงในด้านสายการผลิตของโรงงานในประเทศไทย และบริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น (TKK) ผู้จำหน่ายสินค้าและดำเนินการใช้งานระบบควบคุมการผลิตอัตโนมัติในโรงงานชั้นนำ

สำหรับความร่วมมือดังกล่าวจะร่วมกันนำเสนอโซลูชั่น “e-F@ctory” ที่พร้อมให้บริการและยกระดับภาคการผลิตด้วย Smart Manufacturing ที่ใช้งานจริงบนเครือข่าย AIS 5G เพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงานของภาคการผลิตได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งการเพิ่มคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิต และตอบรับความต้องการการใช้งานในรูปแบบเครือข่ายเฉพาะ (Private Network) อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยของข้อมูล ความเร็ว ลดความหน่วง เพื่อการรองรับการทำงาน IoT ได้อย่างเต็มรูปแบบ ภาคการผลิต หรือโรงงานอุตสาหกรรมที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียกการให้บริการได้ที่ https://business.ais.co.th/

ทั้งนี้ e-F@ctory จะเป็นการการยกระดับขีดความสามารถให้กับภาคอุตสาหกรรมบนโครงข่าย 5G ที่มีศักยภาพดีที่สุดในประเทศไทย นอกจากโซลูชั่น Factory Automation ที่เป็นพื้นฐานแล้ว โซลูชั่นที่ตอบสนองการทำงานที่แตกต่าง และเหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่การทำงานแบบระยะไกลมีความสำคัญมากขึ้น ความต้องการเครือข่าย 5G ที่เป็น Network ไร้สาย เพื่อช่วยให้ศักยภาพและมีความเสถียรต่อการทำงานในภาคส่วนต่างๆ อาทิ

1.Remote Monitoring – จะช่วยให้ผู้บริหาร, หัวหน้างาน หรือ ผู้ดูแลเครื่องจักร สามารถตรวจสอบสถานะการผลิต สถานะเครื่องหรือประสิทธิภาพการผลิต ได้จากทุกที่ ทำให้สามารถบริหารจัดการการผลิตในภาพรวมได้ชัดเจน และยังมองเห็นปัญหาในภาพรวมเพื่อแก้ไขต่อไป

2.Remote Maintenance – สามารถลดระยะเวลาการเข้าหน้างานไปซ่อมบำรุงรักษา หรือตรวจสอบการทำงานเครื่องจักร และสามารถทำงานจากที่บ้านได้ ทำให้ลดต้นทุนค่าเสียโอกาส ที่สายการผลิตจะต้องหยุดลง

3.Remote Development – จะเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาพรวมในการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ภายในโรงงาน สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และจากที่ไหนก็ได้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการประสานงานระหว่างแผนก

4.Remote Service – บริการให้คำปรึกษาแบบทางไกลได้ทันทีผ่าน Mobile Network จากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคของ Mitsubishi และ Partners เมื่อเครื่องจักรมีปัญหาสามารถ เข้าแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้จากระยะไกลได้อย่างรวดเร็ว

“เราพร้อมจะเริ่มทำงานร่วมกับลูกค้า ด้วยการผนึก 3 ความแข็งแกร่งของทั้ง 3 บริษัท ในด้าน Information Technology ของเรา , Operation Technology ของบริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น และ System Intergrator ของ TKK เพื่อเข้าช่วยเหลือลูกค้าในทุกอุสตสาหกรรม และในอนาคตก็จะเสนอการบริการ หรือ โซลูชั่นใหม่ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ให้ภาคอุตสาหกรรมไทย มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยเป้าหมายของเราที่มุ่งมั่นสร้างเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลไทย ขับเคลื่อนดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชันของภารธุรกิจและอุตสาหกรรม และให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัลและโซลูชั่น ร่วมกับพันธมิตรที่หลากหลาย” นายธนพงษ์กล่าว

ด้านนายวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้ ในการร่วมกันพัฒนาโซลูชั่น มีเป้าหมายทำให้การใช้งานจริงเกิดขึ้นในประเทศไทย ตั้งเป้าหมาย 1,000 โรงงาน เพื่อตอบสนองความต้องการภาคอุตสาหกรรม ด้วยการเชื่อมต่อข้อมูลทุกระดับด้วยอุปกรณ์ IoT ทั้งหมด ทำให้เกิดประโยชน์กับการทำงานในทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพโรงงานและสนับสนุนระบบการผลิตในอนาคตทั้งกระบวนการผลิต

ส่วนนางกัลยาณี คงสมจิตร ประธานบริหาร บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น (TKK) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าจะสามารถส่งมอบมอบโซลูชั่นให้กับโรงงานในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความพร้อมของบริษัท และพันธมิตร โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือยกระดับภาคอุตสาหกรรมของไทยให้ก้าวไปอีกขั้น ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ายกระดับการทำงาน เข้าใจปัญหาและตอบโจทย์ความต้องการอย่างแท้จริง ปัจจุบันได้เริ่มมีลูกค้าในหลายอุตสาหกรรมที่ อาทิ ยานยนต์, แปรรูปอาหาร, อาหารและเครื่องดื่ม, สิ่งทอ, ยาและอาหาร รวมถึงทางการแพทย์

นอกจากนี้ TKK อยู่ระหว่างการดำเนินการ และจัดทำข้อมูล เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในปี 2566