HoonSmart.com>>หุ้นรีบาวด์ 15 จุด ตามแรงซื้อหุ้นแบงก์-พลังงานจากราคาลงลึก ครม.ขยายมาตรการเยียวยา 29 จังหวัด เพิ่มกรอบวงเงินอีกเท่าตัวเป็น 60,000 ล้านบาท สภาธุรกิจตลาดทุนไทยจี้รัฐบาลเร่งออกมาตรการตรงจุด-รวดเร็ว ปลุกเชื่อมั่น ห่วงคนไทยขนเงินออกลงทุนต่างประเทศผ่านกองทุน FIF นิวไฮสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท เฉพาะหุ้นเมืองนอก 5.8 แสนล้านบาท คาดเงินตปท.ยังไม่เข้าอีก 1-2 เดือน บล.เอเซียพลัสผวาเศรษฐกิจปีนี้เสี่ยงติดลบ หั่นเป้ากำไรบจ.ลง ลดพอร์ตหุ้นไทย 5%เหลือ 25% แนะถือเงินสด20-30% เงินบาทปิด 33.02 บาท ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน
วันที่ 3 ส.ค.ตลาดหุ้นไทยฟื้นกลับมาแรงวันแรกในรอบหลายวัน ดัชนีปิดที่ 1,540.51 จุด เพิ่มขึ้น 15.40 จุดหรือ +1.01% ด้วยมูลค่าการซื้อขายปานกลาง 69,692 ล้านบาท มีแรงซื้อกลับหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มธนาคาร ส่งให้ดัชนีกลุ่มแบงก์ เด้งขึ้น 2.12% และดัชนีกลุ่มพลังงาน +0.96% แม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะดิ่งลงแรงกว่า 3% ก็ตาม
มาร์เก็ตติ้งกล่าวว่า นักลงทุนกลับมาซื้อหุ้นแบงก์ใหญ่ เพราะราคาลงไปลึกมากและมีปัจจัยบวกเล็ก ๆ จากครม.เห็นชอบขยายมาตรการเยียวยา 29 จังหวัด เพิ่มกลุ่มผู้ได้รับความช่วยเหลือ เพิ่มกรอบวงเงินอีกเท่าตัวเป็น 6 หมื่นล้านบาท จากเดิม 3 หมื่นล้านบาท และรัฐเร่งนำเข้าวัคซีนเร่งด่วนภายในไตรมาส 3 จำนวน 20-25 ล้านโดส รวมตัวเลขผู้ป่วยรักษาใกล้เคียงกับระดับตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ ทำให้นักลงทุนมองบวกต่อการลงทุนระยะสั้น แต่ตลาดยังมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลงต่ำกว่า 1,500 จุด
ด้านนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทยเปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในเดือนก.ค. 64 พบว่า ดัชนีฯในอีก 3 เดือนข้างหน้า ลดลง 39.3% อยู่ที่ระดับ 64.37 อยู่ในเกณฑ์ซบเซา หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังน่าสนใจมากที่สุด นักลงทุนคาดหวังแผนการฉีดวัคซีนเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และนโยบายภาครัฐ
“อยากขอให้รัฐเร่งออกมาตรการช่วยเหลือด้วยปริมาณเงินที่มากขึ้นและรวดเร็ว ช่วยนายจ้างไม่ให้เลิกจ้างแรงงาน ไม่อยากให้คาดหวังว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมา ต้องอาศัยคนไทยท่องเที่ยวเอง สร้างเครื่องยนต์เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมใหม่ พร้อมปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เตรียมพร้อมเมื่อกลับมาเปิดประเทศ หากทำอย่างนี้ อาจเห็นดัชนีฟื้นในไตรมาสที่ 4 แตะ 1,600 จุด แต่ไม่ทะลุ เพราะต่างชาติจะยังไม่กลับมา “นายไพบูลย์กล่าว
ส่วนเงินต่างประเทศจะไม่ไหลเข้ามาในช่วง 1-2 เดือน หลังจากขายออกไปกว่า 9 หมื่นล้านล้านบาทในปีนี้ หากสร้างความมั่นใจคาดจะเห็นเงินของคนไทยหยุดไหลออก หลังจากขนเงินออกไปลงทุนต่างประเทศผ่านกองทุน FIF สูงถึง 1.2 ล้านล้านบาทมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา แบ่งเป็นกองทุนหุ้นถึง 5.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เท่า จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 2.2 แสนล้านบาท
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า หุ้นในเดือน ส.ค.64 ยังคงได้รับความกังวลจากโควิดที่เร่งตัวขึ้นในหลายพื้นที่ ภาครัฐต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์คุมเข้มหลายจังหวัดมากขึ้น ทำให้มีปรับลดทั้งประมาณเศรษฐกิจ (GDP) และกำไรบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ ซึ่งกำไรน่าจะผ่านจุดสูงสุดในไตรมาสแรกไปแล้ว คาดว่าปัญหายังกดันให้เงินทุนไหลออกต่อ จึงแนะนำลดน้ำหนักหุ้นไทยลง 5% เหลือ 25% ต้องกระชับพอร์ต แนะถือเงินสดราว 20-30% มีโอกาสสูงที่ GDP ทั้งปี 64 อาจจะพลิกกลับมาติดลบได้