KBANK-BBLราคาเท่ากัน 103.50 บาท ศูนย์กสิกรฯคาดสินเชื่อทั้งระบบปีนี้โต 4.5%

HoonSmart.com>>นักลงทุนตีค่าหุ้นแบงก์กสิกรไทยเท่ากับธนาคารกรุงเทพที่ระดับ 103.50 บาท นักวิเคราะห์ 16 รายให้ราคาเป้าหมายต่างกัน 10 บาทต่อหุ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยสินเชื่อ-เงินฝากในระบบแบงก์ไทยรวม 19 แห่ง ชะลอตัวลงในไตรมาส 2/2564 ย้ำสัญญาณเปราะบางทางเศรษฐกิจ ครึ่งปีหลังคาดสินเชื่อโตมาจากมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงิน แต่การปล่อยใหม่น่าจะเริ่มชะลอตัวลง

หุ้นธนาคารพาณิชย์ไหลลงมาอย่างต่อเนื่อง  จนล่าสุด วันที่ 27 ก.ค. 2564 ราคาหุ้นของธนาคารกสิกรไทย(KBANK) รูดลงแรง 2 บาท คิดเป็น 1.90% มาปิดที่ 103.50 บาท เท่ากับราคาปิดของธนาคารกรุงเทพ (BBL) ที่ลดลง 0.50 บาทหรือ -0.48%

ขณะที่นักวิเคราะห์ทั้ง 16 ราย แนะนำ “ซื้อ” KBANK ให้ราคากลางหุ้นละ 163 บาท ส่วน BBL ตีราคากลางอยู่ที่ 153 บาท นักวิเคราะห์ 15 ราย แนะนำซื้อ และ 1 รายคือ บล.ธนชาตให้ “ถือ” ราคาเหมาะสมเพียง 116 บาท

ด้านบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยใช้ข้อมูลจากธ.พ. 1.1 สะท้อนว่า ภาพรวมเงินให้สินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทยรวม 19 แห่ง ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2564 ขยับขึ้นจากเดือนก่อนหน้าประมาณ 7.84 หมื่นล้านบาท คาดว่าสิ้นไตรมาส 2/2564 เติบโตประมาณ 4.4% YoY เทียบกับ 4.6% YoY ในไตรมาสที่ 1/2564 จะเริ่มชะลอตัวลง แต่ก็ยังไม่มากนัก เพราะได้รับการประคองทิศทางกลับมาบางส่วนจากการขยายตัวต่อเนื่องของสินเชื่อใน 2 ส่วนหลัก ได้แก่ (1) สินเชื่อกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อเสริมสภาพคล่องและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 และ (2) สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่ยังคงมีกำลังซื้อ

ส่วนภาพรวมเงินรับฝากของระบบธนาคาร ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2564 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 1.09 แสนล้านบาท นับเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือน  ภาพรวมชะลอการขยายตัวลงมาที่ 4.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากอัตราการขยายตัวที่ 5.0% YoY ในไตรมาสที่ 1/2564

สาเหตุที่ทำให้เงินฝากเติบโตในอัตราที่ชะลอลงเป็นผลมาจากฐานเปรียบเทียบที่สูงในช่วงเดียวกันปีก่อน และอาจมีการนำเงินฝากไปลงทุนในตัวเลือกที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ประกอบกับน่าจะมีการทยอยเบิกใช้สภาพคล่อง เพื่อรองรับสถานการณ์โควิด 19 ทั้งในส่วนของภาคธุรกิจและผู้ฝากเงินรายย่อย

แนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจะทำให้ความต้องการสินเชื่อจากกลุ่มลูกค้าที่ยังพอมีรายได้หรือศักยภาพนั้นเป็นไปอย่างระมัดระวัง คาดว่าสิ้นปี 2564 สินเชื่อเติบโตใกล้เคียงระดับกลางปีที่ประมาณ 4.5% ซึ่งชะลอลงจากที่ขยายตัว 5.8% ในปี 2563

“ยอดคงค้างสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในครึ่งปีหลังมีโอกาสขยายตัวได้ต่อเนื่อง เพียงแต่แรงหนุนสำคัญยังมาจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงิน แต่การปล่อยสินเชื่อใหม่น่าจะเริ่มชะลอลง เนื่องจากสถานการณ์โควิดยังมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ทั้งฝั่งลูกค้าชะลอความต้องการสินเชื่อเพื่อลงทุนออกไป ขณะที่ฝั่งสถาบันการเงินยังคงต้องประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตจากการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง”บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ