HoonSmart.com>>”สยามเทคนิคคอนกรีต” สอบได้คะแนนสูง เข้าเทรดวันแรกใน SET ราคาเปิดกระโดด 27%เศษ ไม่สนตลาดติดลบ ปัจจัยพื้นฐานแข็งแรง ผู้นำธุรกิจผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรง กลุ่มลูกค้ารายใหญ่กระจายหลายธุรกิจ ลดภาระหนี้ เพิ่มกำลังการผลิต หนุนรายได้ปีนี้โตเฉียด 20% งานรัฐยังมีอีกนานเป็น 10 ปี รอเอกชนกลับมาลงทุนหลังโควิด สะสมงานในมืออย่างน้อย 900-1,000 ล้านบาท
บริษัท สยามเทคนิคคอนกรีต (STECH) ประสบความสำเร็จในการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันที่ 23 ก.ค. 2564 โดยราคาเปิดกระโดดที่ 3.54 บาท เพิ่มขึ้น 0.76 บาท คิดเป็นประมาณ 27.34% เทียบกับราคาที่เสนอขายประชาชนครั้งแรก (IPO) ที่ 2.78 บาท และขึ้นไปสูงสุดที่ 3.72 บาท ก่อนปิดที่ 3.28 บาท บวก 0.50 บาท คิดเป็น 17.99% ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 2,495.78 บาท สวนทางกับภาวะตลาดโดยรวมที่ลดลง -7.26 จุดหรือ -0.47% ดัชนีปิดที่ 1,545.10 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายเบาบาง 59,508 ล้านบาท ทั้งนี้บล.ชั้นนำ 10 แห่ง ประเมินกรอบราคาหุ้น STECH ที่ 3.22 – 3.93 บาทต่อหุ้น
นายวัฒน์ชัย มงคลศรีสวัสดิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามเทคนิคคอนกรีต (STECH) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงรายใหญ่ เปิดเผยว่า ดีใจกับราคาหุ้นวันแรก เป็นการตอบรับกับการเติบโตของบริษัท ซึ่งปกติรายได้เติบโตปีละ 10% ในปี 2564 มีโอกาสขยายตัวเกือบ 20% หลังจากขยายโรงงาน เพิ่มกำลังการผลิตประมาณ 30% ทั้งนี้ปี 2563 บริษัทมีรายได้รวม 1,550.33 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 140.60 ล้านบาท
ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือที่รอส่งมอบ (Backlog) เกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีโอกาสประมูลงานเพิ่มเติม คาดว่าปีนี้ภาครัฐจะมีการเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่ออกมามาก จำนวน 20 โครงการ มูลค่าโครงการรวมทั้งสิ้น 5-6 แสนล้านบาท ซึ่งลูกค้าของบริษัทจะเข้าร่วมประมูลจำนวน 10 โครงการ มูลค่าประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ยอดการใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทประมาณ 8-10% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาทคาดว่าบริษัทจะได้งานประมาณ 20-25% นับว่าเป็นจำนวนที่มีนัยสำคัญ
ที่ผ่านมา บริษัทได้งานจากการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงของ บริษัทช.การช่างประมูลมา 1.3 แสนหมื่นล้านบาทเป็นโซนที่ตั้งโรงงานของบริษัท 2 สัญญา 6 ปี มั่นใจว่าธุรกิจยังมีอนาคตอีกนาน เมื่อธุรกิจเอกชนกลับมาลงทุน ก็เป็นอานิสงส์ของบริษัทในระยะยาว
บริษัทมีจุดเด่น กลยุทธ์ของผู้บริหารที่มีโรงงาน 9 แห่ง ฐานการผลิตกระจายอยู่ทุกภาคของประเทศ ยกเว้นภาคใต้ ใกล้ที่ตั้งของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ทำให้ลูกค้ามั่นใจว่าส่งมอบเสาเข็มตรงเวลา ไม่เคยทำให้งานล่าช้า ไม่มีค่าขนส่งสูง บริษัทเป็นผู้นำคอนกรีตอัดแรง ลูกค้าเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้า สามารถผลิตงานใหญ่ขนาด 40-50 ตันได้ มีการคิดค้น กระบวนการผลิต เพื่อให้ได้ต้นทุนที่แข่งขันได้
“เราเชื่อว่าจะมีงานอีกนาน 7-10 ปี ภาครัฐยังมีการประมูลโครงการใหญ่ๆ เราทำงานร่วมกับลูกค้าที่เป็นพันธมิตร เพื่อสร้างงานในมือตลอดเวลาอย่างน้อย 900-1,000 ล้านบาท” นายวัฒน์ชัย กล่าว
นอกจากนี้ลูกค้าของบริษัทยังกระจายอยู่หลายกลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ อาทิ บริษัทช.การช่าง บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (ORI) โดยรวมมีสัดส่วน 70% ผลิตเสาไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) สัดส่วน 14-15% ที่เหลือเป็นบริษัทที่มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซื้อผลิตภัณฑ์โดยตรงจากบริษัทไม่ผ่านผู้รับเหมา เช่น กลุ่มซีพีทั้งหมด ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน บริษัทน้ำตาลมิตรผล ทำให้โครงสร้างรายได้มาจากหน่วยงานรัฐ 70% และ ภาคเอกชน 30%
ปัจจุบันบริษัทมีหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ย 500 ล้านบาท หลังระดมทุน IPO มีการนำเงินไปชำระหนี้ ลดสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่ 1.4 เท่า เมื่อสิ้นไตรมาส 1/2564 ลงมาเหลือ 0.7-0.8 เท่าหลังจากเข้าตลาด รวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิต ขณะที่ค่าใช้จ่ายคงที่ ทำให้อัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้น
นางสาวจิรยง อนุมานราชธน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจย์ แคปปิตอล แอดไวเซอรี จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวเสริมว่า หุ้น STECH ได้รับการตอบรับที่ดีเพราะมีโอกาสในการเติบโต และการขยายธุรกิจแบบ Growth Stock ด้วยนโยบายการจ่ายปันผลที่ดีในอัตราไม่ต่ำกว่า 40%
ขณะที่ผลประกอบการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561 – 2563) กำไรสุทธิเติบโตอยู่ที่ 85.74 ล้านบาท 93.23 ล้านบาท และ 140.60 ล้านบาทตามลำดับ คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 4.75% 5.44% และ 9.07% ตามลำดับ แม้ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ไม่ได้เป็นปัจจัยลบต่อบริษัทฯ มากนัก