บลจ.ไทยพาณิชย์มองบวกลงทุนอสังหาฯ -REIT ได้ประโยชน์ศก.ฟื้นตัว

HoonSmart.com>> บลจ.ไทยพาณิชย์ มองโอกาสลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ แนะลงทุน SCBGPROP เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนสู้กับอัตราเงินเฟ้อ เชื่อ outperform จะกลับมา outperform ตลาดหุ้นโลก ด้วยธีม recovery จากภาพเศรษฐกิจทั่วโลกที่ค่อยๆ ฟื้นตัว

ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย

นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บลจ.ไทยพาณิชย์ ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และ REIT ซึ่งกำลังได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนในระดับสูงและมีการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้สามารถให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ โดยข้อมูลอ้างอิงจากดัชนี FTSE EPRA/NAREIT Developed Index พบว่า ในอดีตค่าเช่าสินทรัพย์สามารถให้ผลตอบแทนที่เหนือกว่าอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้ผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่มขึ้นในระยะยาว รวมถึงอัตราเงินปันผลของหลักทรัพย์อสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกก็อยู่ในอัตราร้อยละ 3.5 ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินปันผลของทรัพย์สินประเภทอื่นค่อนข้างมาก (ที่มา : ข้อมูลจาก BlackRock ณ 31 มีนาคม 2564)

ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาทั่วโลกต่างก็ประสบกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างรุนแรงตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้หลายประเทศต้องออกมาตรการปิดเมืองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ภาคธุรกิจหลายส่วนได้รับผลกระทบทางลบ โดยเฉพาะการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ และ REIT ทั่วโลก ที่นับเป็นสินทรัพย์ที่รายได้หลักมาจากการเก็บค่าเช่า สร้างความกังวลให้แก่นักลงทุนที่มองว่าผลประกอบการจะได้รับผลกระทบจากการปิดเมือง อาจทำให้ไม่สามารถจ่ายปันผลได้ส่งผลให้ราคาปรับตัวลดลงอย่างมาก โดยดัชนี Global REIT Index มีการปรับลดลง -45% ในช่วงเดือนมี.ค.2563 ที่มีการระบาดหนักรอบแรก

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และ REIT ทั่วโลก จะสามารถกลับมา outperform ตลาดหุ้นโลกด้วยธีม recovery จากภาพเศรษฐกิจทั่วโลกที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นจากปัจจัยหลัก ๆ ได้แก่ 1) การเปิดเมืองที่มีแนวโน้มเป็นไปค่อนข้างเร็ว ถึงแม้ว่าระดับราคาของ REIT ทั่วโลกจะปรับตัวกลับขึ้นมาค่อนข้างสูงโดยผ่านจุดสูงสุดเดิมในช่วงก่อนการแพร่ระบาด COVID-19 แล้วอยู่ที่ YTD +20% (ที่มา: Bloomberg) แต่เมื่อเทียบกับหุ้นโลกยังถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่ laggard และยังมีโอกาสการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ หลังจากที่ประชากรได้รับการฉีดวัคซีนโดสแรกมีสัดส่วนเกิน 60% ทำให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติได้อีกครั้ง

2) ผลประกอบการของ REIT ทั่วโลกได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2 ปี 2563 และมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวต่อเนื่อง ดังเห็นได้จากการปรับประมาณการ Earnings ของ REIT ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นหลังจากเริ่มมีการผ่อนปรนมาตรการ Lockdown และ 3) ความน่าสนใจในสินทรัพย์ประเภทนี้จะอยู่ที่อัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะยาว โดยคาดว่าแนวโน้มภาวะดอกเบี้ยทั่วโลกในระยะข้างหน้าจะอยู่ในระดับต่ำ จากการที่ธนาคารกลางทั่วโลกยังคงผ่อนคลายนโยบายการเงินไปอีกระยะหนึ่ง

นอกจากนี้ การลงทุนในหลักทรัพย์กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมุ่งเน้นรายได้จากกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจะช่วยกระจายความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตการลงทุนได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักลงทุนควรต้องติดตาม ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยและสภาพคล่องในระบบ ตัวเลขผู้ติดเชื้อ การกลายพันธุ์ของ COVID-19 และพัฒนาการการฉีดวัคซีน รวมถึงการเปิดเมืองที่อาจเกิดความผันผวนกในระหว่างการฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

สำหรับกองทุนแนะนำ ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอล พร็อพเพอร์ตี้ (SCB Global Property : SCBGPROP) เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ได้แก่ BGF WORLD REAL ESTATE SECURITIES FUND (กองทุนหลัก) ในสกุลเงิน USD โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน มีนโยบายเน้นบริหารเพื่อสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนใน REIT ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือหลักทรัพย์ของบริษัทที่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก ภายใต้การบริหารจัดการของ BlackRock Investment Management (UK) Limited โดยกองทุนหลักเน้นลงทุนใน REIT ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือหลักทรัพย์ของบริษัทที่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่มีสัดส่วนในสหรัฐฯ และในยุโรป

นอกจากนี้ กองทุนหลักยังมีทีมบริหารที่เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ในหลากหลายภูมิภาคต่าง ๆ 24 แห่งทั่วโลก ภายใต้สินทรัพย์การบริหารจัดการมากกว่า 48,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา กองทุน SCBGPROP ได้มีการจ่ายปันผลสำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ในอัตรา 0.1145 บาทต่อหน่วย ซึ่งนับเป็นการจ่ายปันผลครั้งที่ 10 รวมเป็นจำนวนเงิน 1.3777 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งกองทุนเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2559)