10 แบงก์ซดกำไรหรู 51,265 ล้านบ. หุ้นรูด ตื่นสำรอง-หนี้เสียปูด Q2/64

HoonSmart.com>> ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบรวม 10 แห่ง ส่วนใหญ่ประกาศผลงานไตรมาส 2/2564 ออกมาดีตามที่ตลาดคาดการณ์ แต่พลิกล็อกกลับตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้น ทำให้มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 51,265 ล้านบาท เติบโต 9.94% จากไตรมาสแรกปีนี้ และพุ่งขึ้นถึง 69.15% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2563

โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีกำไรมากที่สุดถึง 14,543 ล้านบาท เพราะมีกำไรพิเศษมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทจากการขายหุ้นบริษัทเงินติดล้อ แต่หากหักรายการนี้ออก กำไรจากการดำเนินงานลดลง ส่วนแนวโน้มธุรกิจธนาคารในครึ่งปีหลังยังมีความท้าทายจากเศรษฐกิจที่ซบเซา และภายในไตรมาส 3 ธปท.เตรียมออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์กว่า 300 รายการ เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ส่งผลให้นักลงทุนเทขายหุ้นแบงก์ร่วงลงเกือบทั้งกระดาน  เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2564

ขณะที่นักวิเคราะห์แนะนำให้ทยอยซื้อสะสม เพื่อลงทุนระยะยาวหุ้นแบงก์ แรงเชียร์ธนาคารกรุงเทพ (BBL) แน่น มีกำไรสุทธิ 6,357 ล้านบาทสูงกว่าคาดการณ์ ส่วนหนึ่งมาจากกำไรจากเงินลงทุน และธนาคารเพอร์มาตาของอินโดนีเซียเข้ามาสร้างความแข็งแกร่ง ถือโอกาสนำไปตั้งสำรองเพิ่ม เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนที่เกิดจากโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่และสายพันธุ์ใหม่

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า มีกำไรสุทธิ 8,894 ล้านบาท ดีตามคาด ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มีกำไรสุทธิ 8,815 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรอง จำนวน 21,093 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.8% ซึ่งเป็นผลจากการขยายฐานรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง

สำหรับครึ่งปีแรก ธนาคารไทยพาณิชย์มีกำไรสุทธิ  18,902 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3% จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ธนาคารได้ตั้งสำรองจำนวน 10,028 ล้านบาทในไตรมาสที่ 2/2564 และจำนวน 20,036 ล้านบาท สำหรับครึ่งปีแรก อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนมิ.ย.ทรงตัวจากไตรมาสที่ผ่านมา ที่ 3.79%

ด้านธนาคารกรุงไทย (KTB) นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้ 16,616 ล้านบาท ขยายตัว 4% จากไตรมาส 1/2564 มาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นตามสินเชื่อที่ขยายตัว 5.3%  และ NIM เพิ่มขึ้นเป็น 2.55% จาก 2.50%  รวมถึงค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลง 3.6%

สำหรับครึ่งปีแรก ธนาคารมีกำไร 11,589.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน ได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จำนวน 16,154 ล้านบาท ส่งผลให้ Coverage ratio เพิ่มขึ้นเป็น 160.7% เทียบกับ  147.3 %จากสิ้นปี 2563 ด้านคุณภาพสินทรัพย์ NPLs Ratio-Gross ลดลงอยู่ที่ 3.54% จาก 3.81% ณ สิ้นปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากธนาคารให้ความสำคัญกับการบริหารคุณภาพสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง

บล.โนมูระ พัฒนสิน สรุปงบของกลุ่มธนาคาร ส่วนใหญ่เป็นไปตามคาด แนะนำจังหวะย่อ ทยอยแบ่งไม้ซื้อ เพื่อลงทุนระยะยาวมากกว่าเก็งกำไรสั้น เน้น BBL ให้ราคาเป้าหมาย 157 บาท และ TISCO มูลค่า 115 บาท เด่นสุด โดยธนาคารกรุงเทพมีกำไรใกล้เคียงกับเราคาด แต่ดีกว่าตลาดคาด  7% สาเหตุที่กำไรลดลงจากไตรมาสแรก มาจากการเร่งตั้งสำรองล่วงหน้าก้อนใหญ่ สำหรับผลกระทบโควิดระลอก 3 เช่นเดียวกับธนาคารกสิกรไทยเร่งตั้งสำรองล่วงหน้า ทำให้มีกำไรสุทธิ ใกล้เคียงกับที่เราและตลาดคาด

ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) กำไรที่ 2.53 พันล้านบาท  ใกล้เคียงกับเราคาด แต่ดีกว่าตลาดคาด  12% สาเหตุที่กำไรลดลงจากไตรมาสแรก จากรายได้ค่าธรรมเนียมต่ำลงจาก Bacassurance และกองทุนรวม  ส่วนที่ลดลงเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนมาจากสินเชื่อหดตัว จากสินเชื่อธุรกิจ และรายย่อย Non-NII ลดลงจากเงินลงทุน และค่าใช้จ่ายสำรองเพิ่มขึ้น

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนในไตรมาสแรก เพิ่มขึ้นมาแตะที่ 90.5% ของจีดีพี และขณะนี้ยังอยู่ในระดับสูง โดยเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากที่สุด 34% อันดับ 2 สินเชื่อบัตรเครดิต  28% ซึ่งการแก้ปัญหาก็มีความซับซ้อนเนื่องจากลูกหนี้แต่ละรายมีเจ้าหนี้หลายราย

ทั้งนี้  ณ สิ้นเดือนพ.ค.64 มีลูกหนี้ที่ให้ความช่วยเหลือ 4.9 ล้านราย/บัญชี หรือคิดเป็นวงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น สินเชื่อรายใหญ่ ประมาณ 2,000 ราย วงเงิน 6 แสนล้านบาท สินเชื่อ SMEs 5 แสนราย วงเงิน 1 ล้านล้านบาท และสินเชื่อรายย่อย 4.4 ล้านบัญชี วงเงิน 1.6 ล้านล้านบาท

ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ภายในไตรมาส 3 นี้ ธปท.เตรียมออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์กว่า 300 รายการ เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยทุกธนาคารจะต้องทบทวน และ เปิดเผยค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจนบนเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนเปรียบเทียบและเลือกใช้บริการได้