MFC : “Seeking Quality Growth in Choppy Markets”

สัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานสหรัฐฯ มีการประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็น มาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค เดือน มิ.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.4% YoY สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 5.0%YoY ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2551 และเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ก็ได้กล่าวถ้อยแถลงนโยบายการเงินต่อสภาคองเกรสว่า เฟดจะยังคงเดินหน้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE ต่อไป และจะยังไม่เร่งรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยยืนยันว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นต่อในเดือนนี้เกิดจากปัจจัยเพียงชั่วคราวเท่านั้น

การที่ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. รายงานออกมาไม่ตรงกับทิศทางการสื่อสารของเฟด ส่งผล ให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มมีความผันผวนมากขึ้น สอดคล้องกับสถิติของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่บ่งชี้ว่าภายในปีที่สองของตลาดกระทิง หลังจากปีแรกที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นทำ New High อย่างต่อเนื่อง ดัชนี S&P500 มีโอกาสปรับฐานลงมากกว่า 5% ขึ้นไป ซึ่งเป็นเหตุการณ์ปกติที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มักจะมีการปรับฐานใหญ่ราว 2 ครั้งต่อปี

ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงาน GDP ไตรมาส 2 ออกมาขยายตัว 7.9% YoY ทำสถิติขยายตัวติดต่อกัน 5 ไตรมาส โดยได้ปัจจัยหนุนจากการส่งออกที่แข็งแกร่ง โดยเดือน มิ.ย. การส่งออกจีนขยายตัวสูงถึง 32%YoY

อย่างไรก็ตาม GDP ไตรมาส 2 ของจีนยังขยายตัวน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 8.1%YoY สอดคล้องกับตัวเลขยอดค้าปลีกเดือน มิ.ย. ที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าเช่นเดียวกัน ทำให้มีโอกาสที่นักลงทุนจะได้เห็นมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม หลังจากที่ธนาคารกลางจีนได้ประกาศปรับลดอัตราการดำรงเงินสำรองสำหรับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ (RRR) ลงไป 0.5% เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา