HoonSmart.com>>วิจัยกรุงศรีปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2564 เติบโตเหลือ 1.2% จากสถานการณ์การระบาดเลวร้ายลง นักท่องเที่ยวต่างชาติลดเหลือ 2.1 แสนคน ส่วนการส่งออกคาดปีนี้ขยายตัว 15%
วิจัยกรุงศรีปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2564 ลง 0.8% เหลือขยายตัว 1.2% จากผลกระทบของการระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงและยาวนานกว่าคาด ท่ามกลางมาตรการช่วยเหลือที่ค่อนข้างจำกัด ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตา กอปรกับความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน และการฉีดวัคซีนที่ยังมีความล่าช้า ชี้ว่าการดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มข้นอาจดำเนินต่อไปจนถึงเดือนตุลาคม จึงคาดว่าผลกระทบเชิงลบโดยรวมที่เกิดจากการหยุดชะงักของอุปทาน การลดลงของอุปสงค์ และกิจกรรมการท่องเที่ยวอ่อนแอลง ฉุดการเติบโตของ GDP ของไทยในปีนี้ลดลง 2.0% อย่างไรก็ตาม คาดว่าการส่งออกที่แข็งแกร่งจะช่วยหนุนการเติบโตของ GDP ปีนี้บวกขึ้น 0.6%
สำหรับการออกมาตรการเยียวยาจากภาครัฐที่คาดว่าจะมีเพิ่มเติมวงเงิน 1 แสนล้านบาทในปีนี้ น่าจะสามารถช่วยเพิ่มการเติบโตของ GDP ได้อีก 0.6% แต่มาตรการทั้งทางการคลังและการเงินอาจมีผลบวกค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับขนาดของผลกระทบจากการระบาดรอบนี้และขนาดของมาตรการที่ดำเนินการในอดีตที่ผ่านมา ผลกระทบสุทธิต่อการเติบโตของ GDP ของไทยรวมแล้วจะลดลงจากคาดการณ์เดิม 0.8% ทำให้ประมาณการอัตราการขยายของเศรษฐกิจในปี 2564 เหลือเติบโตเพียง 1.2% จากเดิมครั้งก่อนคาดไว้ที่ 2.0%
วิจัยกรุงศรีประเมินการฟื้นตัวในรูปแบบตัว “K” จะปรากฎชัดขึ้น โดยภาคท่องเที่ยวจะยังฟื้นตัวได้ช้าแม้จะเริ่มโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ได้ แต่การระบาดที่รุนแรงและยาวนานเกินคาด ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้คาดว่าจะมีเพียง 0.21 ล้านคน (เดิมคาด 0.33 ล้านคน) ด้านตลาดแรงงานที่อ่อนแอ หนี้ภาคครัวเรือนในระดับสูงและรายได้ที่ลดลง รวมถึงมาตรการพยุงเศรษฐกิจที่มีจำกัด การบริโภคภาคเอกชนในปีนี้อาจมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงเหลือ 1.1% (เดิม 1.8%)
ส่วนในแง่บวก อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการกลับมาเปิดดำเนินการของกิจกรรมเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ช่วยหนุนให้การขยายตัวของภาคส่งออกของไทยในปีนี้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 15% (ฐานตัวเลขของ ธปท.) จากเดิมคาดโต 9.5% แนวโน้มการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นนี้จะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้ได้บ้าง
ด้านเศรษฐกิจโลก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังจำเป็นต้องได้รับแรงหนุนจากมาตรการทางการเงินผ่อนคลายต่อไป