HoonSmart.com>>รัฐยกระดับการล็อกดาวน์ประเทศไทย และตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันทะลุ 1 หมื่นรายอย่างรวดเร็ว จะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สร้างความเสียหายให้กับธุรกิจบางประเภทมากขึ้น เช่น ธุรกิจบริการ ธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจประกันวินาศภัย ที่รับประกันภัยไวรัสโคโรนา คงจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนจำนวนมากในปี 2564 ยิ่งเห็นการออกตัวแรง”ทุบหม้อข้าว”ของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย (SMK) แล้ว อาการหนักจนน่าเป็นห่วง…
แม้ว่า บริษัท สินมั่นคงประกันภัย กลับลำ ล้มการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยไวรัสโคโรนาแบบ เจอ จ่าย จบ หรือ COVID 2 in 1 แล้ว ได้สร้างบาดแผลใหญ่ให้กับวงการประกันวินาศภัย ลูกค้าของทุกบริษัทหวั่นไหว บางรายอาจตื่นตระหนกถึงกับขาดความเชื่อมั่น เพราะคาดไม่ถึงว่าจะมีบริษัทประกันขนาดใหญ่ บอกเลิกกรมธรรม์ก่อนครบกำหนด ถือเป็นการ “เอาเปรียบลูกค้ามาก ในภาวะวิกฤต ” ซึ่งสะท้อนถึงการทำธุรกิจที่ไม่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี (ซีจี) หากเพียงเพราะดีดลูกคิดแล้วพบว่า”อาจจะขาดทุนสูงมาก” จากการรอเวลาให้กรมธรรม์หมดอายุลง คงไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่ใหญ่เพียงพอ ที่บริษัทจะกล้านำชื่อเสียงที่สร้างสมมานานถึง 70 ปี มาแลกกับความไว้เนื้อเชื่อใจของลูกค้า และพอร์ตเบี้ยประกันภัยรับรวมสูงถึง 1 หมื่นล้านบาทของบริษัท
บริษัท สินมั่นคงประกันภัย เริ่มเปิดดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค. 2494 ภายใต้ชื่อ บริษัท บ้วนฮงเซ้งประกันภัย และได้เปลี่ยนชื่อ โดยเป็นบริษัทประกันวินาศภัยที่รับประกันรถยนต์เป็นหลักและเป็นบริษัทฯ แรกที่ได้รับความไว้วางใจให้จดทะเบียนภายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วันที่ 7 มิ.ย. 2534 หรือเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีครอบครัว”ดุษฎีสุรพจน์”เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
บริษัทดำเนินธุรกิจรับประกันวินาศภัย 4 ประเภท ได้แก่ ประกันรถยนต์ ประกันอัคคีภัย ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง ประกันภัยเบ็ดเตล็ด โดยมีรับประกันรถยนต์เป็นธุรกิจหลัก เคยเป็นบริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดติด 1 ใน 5 ผลการดำเนินงานมีกำไรทุกปี
เมื่อปี 2563 บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 757 ล้านบาท มาจากกำไรจากการรับประกันภัยสูงถึง 848 ล้านบาท หรือมากกว่า 3 เท่าของกำไรที่ทำได้ในปี 2562 จำนวน 251 ล้านบาท และ 2 เท่าของปี 2561 ที่ 406 ล้านบาท เนื่องจากในปี 2563 เกิดวิกฤการณ์โควิด บริษัทมองเห็นโอกาสในการนำเสนอประกันไวรัสโคโรนา นับเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างผลตอบแทนที่ดีส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิสูงขึ้นมาก
ส่วนกำไรที่มาจากการลงทุน ในภาวะตลาดหุ้นตกต่ำ กำไรในส่วนนี้เหลือเพียง 41 ล้านบาท วูบลงแรงจากที่เคยมีกำไรปีละ 400-500 ล้านบาท
ในปี 2563 กำไรจากการรับประกันภัยสูงกว่า 848 ล้านบาท มาจากเบี้ยประกันภัยสุทธิ จำนวน 9,345 ล้านบาท ขณะที่มีค่าสินไหมทดแทนและค่าใช้จ่ายในการจัดการค่าสินไหมทดแทนจำนวน 6,323 ล้านบาท สนับสนุนให้หุ้นประกันวินาศภัยเป็นดาวเด่น ราคาหุ้นของบริษัทในหมวดประกันภัยและประกันชีวิตทั้งหมด 18 บริษัท ปรับตัวขึ้น เช่นเดียวกับ SMK จากที่เคลื่อนไหวบริเวณ 29.75 บาทสิ้นปี 2562 ขึ้นมาปิดที่ 38.50 บาทเมื่อสิ้นปี 2563 ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ราคาวิ่งขึ้นไปสูงสุดแตะ 42 บาท
แนวโน้มธุรกิจประกันวินาศภัย ที่รับประกันโควิดมีโอกาสแย่ลง เพราะการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงขึ้นตามยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวัน และเอฟเฟคจากบริษัท สินมั่นคงประกันภัยเขย่าวงการประกันให้สะเทือน ราคาหุ้น SMK และหุ้นประกันวินาศภัยที่รับประกันโควิดมีโอกาสปรับตัวลง ทั้งนี้บล.โกเบล็กให้ราคาเป้าหมายถึง 44 บาท เพราะคาดกำไรจะเติบโตดีในช่วงที่เหลือของปีนี้ หลังจากชะลอตัวลงในไตรมาสแรก เพราะการแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่ทำให้ประชาชนทำงานที่บ้านมากขึ้น มีการใช้รถยนต์น้อยลง จึงเกิดอุบัติเหตุเคลมสินไหมลดลงก็ตาม จับตากำไรจากการรับประกันรถยนต์ที่เป็นธุรกิจหลักของบริษัทจะชนะค่าเคลมประกันโควิดได้หรือไม่ และได้มากน้อยเพียงใด…