GPSC ทุ่ม 1.4 หมื่นลบ.ต่อยอดธุรกิจ ร่วมทุนอินเดียเพิ่มโซลาร์ 3,744 MW

HoonSmart.com>>ครอบครัวปตท. ไม่หยุดลงทุน “โกลบอล เพาเวอร์ฯ” เท 14,825 ล้านบาท ซื้อหุ้นบริษัทอินเดีย 41.6% เจ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มีสัญญาซื้อขาย 3,744 MW  เดินหน้าขยายธุรกิจจากเมื่อต้นปี 64 เพิ่งลงทุนโรงงานแบตเตอรี่ของจีน ส่วนโรงผลิตแบตเตอรี่ SemiSolid นัดเปิดตัว 19 ก.ค. นักวิเคราะห์เชียร์ซื้อ บล.โนมูระฯชี้เป้า  91.50 บาท บล.เอเซียพลัสให้มูลค่า 82 บาท ด้านหุ้นกลุ่มปตท.ร่วงเกือบทุกตัว สวนทางราคาน้ำมันดิบขาขึ้น กำไรไตรมาส 2 แถมเงินปันผล 

บริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ประกาศเข้าซื้อหุ้นบริษัท Avaada Energy Private Limited ประเทศอินเดีย จำนวน 41.6%  มูลค่าประมาณ 14,825 ล้านบาท เพื่อลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยบล.คิงส์ฟอร์ด แนะซื้อหุ้น GPSC ราคาเป้าหมาย IAA Consensus ที่ 85 บาท Avaada มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับรัฐบาลและเอกชนรวมกำลังการผลิตทั้งสิ้น 3,744 เมกะวัตต์ (MW )ในจำนวนนี้ COD แล้ว 1,392 MW ส่วนที่เหลือ 2,353 MW อยู่ระหว่างการก่อสร้างและจะทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2564-2565 โดยดีลนี้จะช่วยเพิ่ม Committed Equity Capacity จาก ณ ปัจจุบันที่ 5,055 eMW อีกราว +31% เพื่อบรรลุเป้าหมายขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ในระยะเวลา 5 ปี

ส่วนความคืบหน้าโรงงานผลิตแบบเตอรี่ SemiSolid จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 ก.ค.นี้

บล.โนมูระ พัฒนสิน คงคำแนะนำ “ซื้อ” GPSC ราคาเป้าหมายปี 2565 อยู่ที่ 91.50 บาท มองการเข้าซื้อหุ้นโซลาร์อินเดีย ส่งผลให้Equity MW ในมือเพิ่มขึ้นราว 1,557.50 MW หรือ +28% ของกำลังการผลิตในมือปัจจุบันที่ 5,641.50 MW และเป็นเพิ่มโอกาสในการขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียนในอินเดียต่อเนื่อง เพราะ Avaada มีโครงการในท่ออีกราว 5 GW โอกาสในการต่อยอดธุรกิจ Battery และ Hydrogen ในอินเดีย

บล.เอเซีย พลัส ให้ราคาเหมาะสม GPSC อยู่ที่ 82 บาท คาดทิศทางกำไรปกติงวดไตรมาสที่ 2 จะปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสแรก จากรายได้ขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. ที่คาดจะเพิ่มขึ้น รวมถึงค่า K-Factor ในกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ที่คาดจะปรับเพิ่มขึ้นตามช่วงฤดูกาล การลงทุนครั้งนี้ต่อยอดฐานกำไรในระยะยาวในธุรกิจโรงไฟฟ้า และช่วยต่อยอดความเชี่ยวชาญในการประกอบการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

ข่าวดีของ GPSC หนุนราคาหุ้นกระโดด ปิดที่ 78.75 บาท พุ่งขึ้น 4.25 บาท คิดเป็น 5.70% ท่ามกลางมูลค่าการซื้อขายมากกว่า 4,637 ล้านบาท สวนทางกับหุ้นในกลุ่มปตท. ปรับตัวลงเกือบทั้งหมด ยกเว้น OR ปิดที่ 29 บาท และ IRPC ปิดที่ 3.70 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ราคาผันผวนหลังจากประกาศใช้เงินสูงกว่า 1 แสนล้านบาท ซื้อบริษัทเยอรมนี  เพิ่มธุรกิจที่มีมูลค่าสูง  เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมาหุ้นดิ่งลงแรง ก่อนตีกลับแรงเช่นกัน 5.94% เมื่อวานนี้ แต่วันนี้ (14 ก.ค.)กลับลงมาปิดที่ 56.75 บาท -1.25 บาทหรือ -2.16% แม้ว่านักวิเคราะห์มองดีลซื้อกิจการเป็นบวก และบริษัทยืนยันว่าจะไม่เพิ่มทุนจดทะเบียนก็ตาม

หุ้นกลุ่มปตท.มีความสัมพันธ์โดยตรงกับราคาน้ำมันดิบ ที่ปรับตัวขึ้นทะลุ 75 ดอลลาร์/บาร์เรล และนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าราคายังคงเป็นขาขึ้นตามความต้องการใช้จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ราคาหุ้นกลับไม่ขานรับ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ยังคงไหลลงต่อเนื่อง ปิดที่ 111.50 บาท -2.50 บาท  บริษัทไทยออยล์ (TOP) ร่วงลงแรงต่ำกว่า 50 บาทก่อนฟื้นขึ้นมาปิดที่ 50.75 บาท ติดลบ 1 บาทหรือ -1.93% นักวิเคราะห์บางรายแนะนำให้ขาย TOP เพราะไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของค่าการกลั่น ส่วนบริษัทไออาร์พีซี (IRPC) นักวิเคราะห์แนะนำซื้อ ให้ราคาเป้าหมายเฉลี่ย 4 บาท คาดกำไรสุทธิไตรมาส 2/64 ออกมาดี ที่สำคัญกลุ่มปตท.ทุกแห่งจ่ายเงินปันผลกลางปี เมื่อมีกำไรสุทธิ และให้อัตราผลตอบแทนที่ดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์