GPSC ทุ่มงบ 1.48 หมื่นลบ. ซื้อหุ้น Avaada โซลาร์ฟาร์มอินเดีย 41.6%

HoonSmart.com>> “โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่” เข้าลงทุนโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในอินเดีย ซื้อหุ้น Avaada Energy สัดส่วน 41.6% มูลค่า 14,825 ล้านบาท กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 3,744 เมกะวัตต์ COD แล้ว 1,392 เมกะวัตต์ เตรียมเซ็นสัญญากู้เงินระยะยาว “ปตท.-ปตท. ศูนย์บริหารเงิน” วงเงินไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท หนุนลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ


นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจา้หนา้ที่บริหารและกรรมการผจู้ดัการใหญ่ บริษัท โกลบอลเพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ค.2564 บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GRSC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นทั้งหมด 100% ได้บรรลุข้อตกลงในการเข้าลงทุนในบริษัท Avaada Energy Private Limited (Avaada) สาธารณรัฐอินเดีย โดยการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนในสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 41.6% ของทุนท้งหมดของ Avaada คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 14,825 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัท ฯ ครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 21 พ.ค.2564

บริษัท Avaada Energy Private Limited ประกอบธุรกิจพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ในอินเดีย โดยมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ Central and State Government และ ลูกค้าเอกชน (Commercial & Industrial) รวมกำลังการผลิตไฟฟ้า (Committed capacity) ทั้งสิ้น 3,744 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วประมาณ 1,392 เมกะวัตต์และอยู่ระหว่างการก่อสร้างจำนวนประมาณ 2,352 เมกะวัตต์ซึ่งจะทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในปี 2564 -2565

ด้านที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2564 ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ และ/หรือ บริษัท จีพีเอสซีศูนย์บริ หารเงิน จำกัด (GPSC TC) เข้าทำสัญญากู้ยืมเงินกับบริษัท ปตท. (PTT) และ/หรือ บริษัท ปตท. ศูนย์บริหารเงิน ในรูปแบบเงินกู้ระยะยาวจากผู้ถือหุ้น ในวงเงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนทางการเงินสำหรับการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ

บริษัทฯ คาดว่าจะเข้าทำสัญญากู้เงินภายในไตรมาส 3 ปี 2564 วงเงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาท อายุไม่เกิน 3 ปี อัตราดอกเบี้ยเทียบเคียงับตลาด ไม่เกิน 3.00% ต่อปี

นายวรวัฒน์ กล่าวว่า การร่วมทุนดังกล่าว เป็นการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ ตามแผนกลยุทธ์ของบริษัทฯ ในฐานะ Flagship ของกลุ่ม ปตท. โดยการเข้าลงทุนครั้งนี้จะทำให้ GPSC มีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 2,145 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 32% ของกำลังการผลิตทั้งหมด 6,613 เมกะวัตต์ และจะเพิ่มขึ้นตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นของบริษัท Avaada ที่ตั้งเป้าหมายการขยายกำลังการผลิตเป็น 11,000 เมกะวัตต์ ในปี พ.ศ. 2568

ทั้งนี้ การเข้าร่วมทุนในโครงการดังกล่าว เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ในการขยายกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั้งในประเทศและต่างประเทศของกลุ่ม GPSC ซึ่งได้เล็งเห็นถึงศักยภาพการลงทุนใน Avaada ซึ่งมีเป้าหมายการขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในอนาคต สอดคล้องกับอัตราการเติบโตของการใช้ไฟฟ้าในประเทศอินเดียที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะมีประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคน รวมถึงรัฐบาลอินเดียยังมีนโยบายส่งเสริมพลังงานสะอาด เพื่อใช้เป็นแนวทางส่งเสริมพลังงานสะอาดให้เป็นที่หนึ่งของโลก โดยอินเดียมีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจาก 73 กิกะวัตต์ ในปัจจุบัน ให้เป็น 450 กิกะวัตต์ ภายในปี พ.ศ. 2573 ดังนั้น อินเดียจึงนับเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ และส่งผลดีต่อการขยายโอกาสด้านการลงทุนของบริษัทฯ อีกทั้งอินเดียยังเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านงานวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีชั้นนำของโลกอีกประเทศหนึ่ง

GPSC เล็งเห็นถึงความสำคัญของทิศทางการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการพัฒนาพลังงานโลก ที่ให้ความสำคัญในด้านการผลิตพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ประเทศทั่วโลกมีการขยายโครงการพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนโยบายของประเทศไทยที่จะเดินหน้าสู่เป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งการลงทุนครั้งนี้จะเป็นส่วนสนับสนุนในการขับเคลื่อนความมั่นคงด้านพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของประเทศ และยังสามารถรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันที่จะนำไปสู่การพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนร่วมกันต่อไป

ด้านนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. (PTT) กล่าวว่า การเข้าร่วมทุนในครั้งนี้ ถือเป็นความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของ กลุ่ม ปตท. ผ่านทิศทางการลงทุนในอนาคตที่รองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เพื่อมุ่งสู่ Net Zero Carbon Emissions และช่วยสนับสนุนให้เกิดการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงปารีสร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม

การขยายการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน รวม 3,744 เมกะวัตต์ในโครงการนี้ เมื่อโครงการดำเนินการเต็มกำลังการผลิตในปี 2565 คาดการณ์ว่าจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ราว 4.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี เมื่อเทียบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้าของประเทศอินเดีย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้กลุ่ม ปตท. บรรลุเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนของกลุ่ม ปตท. ให้ถึง 8,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 นำไปสู่การพัฒนาพลังงานอนาคตอย่างยั่งยืนร่วมกันต่อไป