TU หุ้นนวัตกรรมอาหาร ครบเครื่อง “โตยั่งยืน”

HoonSmart.com>>นักลงทุนที่คิดจะซื้อหุ้นเพื่อเก็บไว้ลงทุนระยะยาว จะต้องคำนึงถึงการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยสามารถพิสูจน์จากผลงานในอดีตและกลยุทธ์ในอนาคต ไม่ว่าจะมีวิกฤตการณ์อะไรเกิดขึ้น กำไรก็ยังสามารถเติบโตขึ้นในทุกสถานการณ์ และมีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่ดี ประมาณ 3-4% ต่อปี หนึ่งในหุ้นที่ควรมีไว้ในพอร์ต ขอแนะนำ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU

ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป มีแม่ทัพชื่อ “ธีรพงศ์ จันศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มี “วิสัยทัศน์กว้างไกล คิดเร็ว ลงมือทำเร็ว” ส่งผลให้บริษัทผงาดขึ้นเป็นผู้นำด้านธุรกิจอาหารในตลาดโลก ภายใต้กลยุทธ์ด้านความยั่งยืน ทั้งทางด้านธุรกิจ และสิ่งแวดล้อม นับเป็นเมกะเทรนด์ของโลกในอนาคต

ไทยยูเนี่ยนเป็นบริษัทของคนไทย แต่บริหารธุรกิจติดอันดับมาตรฐานสากล ได้คะแนนสูง ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) อย่างต่อเนื่อง 7 ปีแล้ว ภายใต้กลยุทธ์ที่วางไว้ตามช่วงเวลา

ในอดีตที่ผ่านมา บริษัทมองว่า “การขยายธุรกิจคือการเติบโต” จึงมีการซื้อกิจการทั้งในและต่างประเทศจำนวนมาก ต่อจิ๊กซอว์ กระจายยอดขายไปทั่วโลก ต่อยอดธุรกิจให้ครบวงจร ปัจจุบันบริษัทมาไกลมาก จากจุดเริ่มต้น ในฐานะผู้ผลิตและส่งออกอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งและบรรจุกระป๋อง และขยายธุรกิจ อาหารสำเร็จรูปและอาหารว่าง โดยเน้นอาหารทะเล รวมถึงธุรกิจบรรจุภัณฑ์และสิ่งพิมพ์ ธุรกิจการตลาดภายในประเทศ ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและอาหารสัตว์ในฟาร์ม

ตอบโจทย์เทรนด์ผู้บริโภคทั่วโลก

และเมื่อเทรนด์ของโลกธุรกิจเปลี่ยนแปลง “ความใหญ่” ไม่ได้เป็นจุดแข็ง หรือข้อได้เปรียบของการแข่งขันอีกต่อไปแล้ว บริษัทมองว่า “นวัตกรรม” จะนำพาบริษัทผ่านทุกวิกฤตได้และยังมองไปถึงอนาคต ทำให้ธุรกิจเข้มแข็งยิ่งขึ้น จึงถือโอกาสผันตัวเองจากผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์มาสู่บริษัทที่มีธุรกิจที่มีความหลากหลายด้วยสินค้านวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าด้วย

ดังนั้นบริษัทจะต้องพัฒนาธุรกิจหลักในปัจจุบัน และเพิ่มการลงทุนใหม่ๆ ภายใต้กลยุทธ์ 5 ปี มุ่งสู่ปี 2568 ซึ่งตั้งต้นจากแนวคิด Healthy Living, Healthy Oceans วางเป้าหมายในการสร้างสุขภาพที่ดีให้กับผู้คนควบคู่ไปกับการดูแลความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล

กลยุทธ์มาจาก “เทรนด์ระยะยาวของผู้บริโภคทั่วโลก” ที่มองหาอาหารที่ดีต่อสุขภาพของทุกคนในครอบครัว และยังให้ความสำคัญกับเรื่องของความยั่งยืน ดังนั้นสินค้าที่เลือกต้องมีคุณภาพ รสชาติอร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการ พร้อมทั้งกระบวนการจัดหาและบรรจุหีบห่ออย่างยั่งยืนเช่นกัน ที่สำคัญคือต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อให้คนรุ่นต่อไปยังมีทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ ขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์ในเรื่องความสะดวกในการซื้อหา จัดเตรียมและปรุงได้ง่าย

บริษัทฯ เดินกลยุทธ์มาถูกทาง สามารถตอบโจทย์เทรนด์ผู้บริโภคทั่วโลกได้เป็นอย่างดี พิสูจน์ฝีมือให้เห็นชัดเจนในปี 2563 และต่อเนื่องมายังปี 2564

ในปี 2563 ท่ามกลางวิกฤตการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด เร่งให้เทรนด์ผู้บริโภคเด่นชัดมากยิ่งขึ้น ผู้คนเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ต้องอยู่บ้านและทำอาหารรับประทานที่บ้านมากขึ้น มองหาอาหารและวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ช่องทางการซื้อออนไลน์และการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก

ไทยยูเนี่ยนฯ แม้ว่าลูกค้าที่เป็นธุรกิจร้านอาหารและโรงแรมจะสั่งซื้อสินค้าอาหารแช่แข็งจากบริษัทน้อยลงก็ตาม ในปีที่ผ่านมานั้นมีกำไรสุทธิถึง 6,246 ล้านบาท สูงสุดในประวัติการณ์ เพิ่มขึ้น 64% จากปี 2562 ผลงานที่ดีนี้มิใช่อานิสงส์จากสถานการณ์อย่างเดียวเท่านั้น เพราะหากพิจารณาในแง่มุมของการบริหาร ไทยยูเนี่ยนเองมีการปรับการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไรมาโดยตลอดหลายปีก่อนหน้า มีการปิดธุรกิจส่วนที่ไม่ทำกำไรลง รวมหน่วยงานสนับสนุนและออฟฟิศต่างๆ เช่นในสหรัฐอเมริกา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และยังสามารถชำระหนี้คืนได้อีก 3,000 ล้านบาท มีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน (D/E) ลงมาอยู่ที่ระดับ 0.94 เท่า

ส่วนในไตรมาส 1/2564 กำไรสุทธิยังสูงต่อเนื่อง 1,802.89 ล้านบาท พุ่งขึ้นถึง 77.41% เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน และ D/E ลดลงมาอยู่ที่ 0.93 เท่า กำไรที่ดีขึ้นมาก ส่วนหนึ่งมาจากธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งเติบโตกว่า 10 % โดยเฉพาะตลาดใหญ่ที่สุดของบริษัท คือสหรัฐอเมริกา ร้านอาหารและโรงแรมต่างๆ ได้กลับมาเปิดหลังจากเริ่มมีการฉีดวัคซีน ส่งผลให้กำไรขั้นต้นของธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งเพิ่มขึ้นถึง 44% ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า ก็เติบโตกว่า 20% เพราะคนสั่งอาหารมาทานที่บ้านและมีเวลาดูแลสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นด้วย

ส่วนแนวโน้มในไตรมาส 2 และครึ่งหลังของปี 2564 ยังไปได้ดีต่อเนื่อง เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงธุรกิจ Red Lobster ดีขึ้น คาดว่าส่วนแบ่งขาดทุนจะลดลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง รวมถึงการพัฒนาธุรกิจหลักและการขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

กลยุทธ์มุ่งสู่ปี 2568
เพิ่มผลิตภัณฑ์-ธุรกิจ “นวัตกรรม”

บริษัทมีการพัฒนาธุรกิจหลัก คืออาหารทะเลแช่แข็งและบรรจุกระป๋อง เน้นการลงทุนในเรื่องของเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติ มีการรวมโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งพร้อมทาน และการผลิตอาหารพร้อมทานที่มีโรงงาน 3 แห่งเข้าด้วยกัน ทำให้โรงงานแห่งใหม่สามารถรองรับกำลังการผลิตได้มากขึ้นและมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นด้วย

บริษัทยังมีโครงการนำร่อง “โรงงานแห่งอนาคต” โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการแปรรูปเนื้อปลา สำหรับผลิตปลาทูน่ากระป๋อง

แบรนด์เดิมที่มีอยู่ก็ยังลงทุนต่อเนื่อง ล่าสุดได้ถือหุ้น Rugen Fisch ทั้งหมด 100% ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทผู้นำอาหารทะเลของเยอรมัน ทำให้แบรนด์สินค้าอาหารทะเลกระป๋องของบริษัทในตลาดยุโรปแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในประเทศไทย เราเห็น ” ซีเล็คท์ทูน่าอาฟเตอร์ยำ” ที่ถูกปากผู้บริโภคชาวไทยด้วยรสชาติจัดจ้าน หรือซีเล็คท์ โกลด์ สำหรับผู้บริโภคปลากระป๋องปลาแมคเคอเรลที่ต้องการสินค้าพรีเมียมขึ้น ไม่มีก้างไม่มีหนัง มี DHA โอเมก้า 3 ในปริมาณสูง

บริษัทยังเปิดตัว “โปรตีนจากพืช” แบรนด์ OMG Meat เป็นเมนูอาหารพร้อมทาน เช่น ติ่มซำ นักเก็ต เนื้อปู ตอบโจทย์กลุ่มคนที่มองหาโปรตีนทางเลือกที่พร้อมทานและมีรสชาติอร่อย นอกจากนี้กำลังพัฒนาโปรตีนทางเลือกคุณภาพสูง เพิ่มสินค้าทางเลือกให้กับผู้บริโภคได้ครบมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่บริษัทมีผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจำหน่ายอยู่แล้ว

ในต่างประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศส มีการผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ Petit Navire พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้น่าสนใจ เปิดตัวปลาทูน่ากระป๋อง เสริมคุณค่าทางโภชนาการ ด้วยวิตามินซี โอเมก้า3 และสารต้านอนุมูลอิสระสูง สร้างสีสันและเป็นแนวทางใหม่ๆ และพร้อมจะขยายไปยังตลาดอื่นๆ ด้วย

เพิ่มลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ

ไทยยูเนี่ยนฯยังขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ และยังดูในเรื่องของ “นวัตกรรม” และ”สตาร์ทอัพ” ด้วย เพื่อให้ธุรกิจก้าวทันโลก

บริษัทได้ลงทุนในธุรกิจส่วนประกอบอาหารหรืออินกรีเดียนท์ ตอนนี้มีโรงงานน้ำมันปลาทูน่า โรงแรกเป็นโรงสกัดน้ำมันปลาทูน่า อยู่ที่ประเทศไทย และโรงกลั่นน้ำมันปลาทูน่าบริสุทธิ์ที่ประเทศเยอรมัน บริษัทยังมีการเพิ่มไลน์การผลิตผงแคลเซียมจากกระดูกปลาทูน่าในโรงงาน ในขณะเดียวกันกำลังลงทุนในโรงงานผลิตโปรตีนไฮโดรไลเสสและคอลลาเจนเปปไทด์ในประเทศไทยเช่นกันและอยู่ภายใต้บริษัท ไทยยูเนี่ยน อินกรีเดียนท์

บริษัทได้จัดตั้งบริษัท บริษัทไทย ยูเนี่ยน ไลฟ์ไซเอนซ์ ดำเนินธุรกิจแบบ B2C ขายปลีกให้กับผู้บริโภคโดยตรงในรูปแบบอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ

บริษัทจัดตั้งกองทุนร่วมทุน มุ่งลงทุนในบริษัทสตาร์อัพ ด้านโปรตีนทางเลือก อาหารฟังก์ชั่น และเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงเทคโนโลยีชีวภาพและห่วงโซ่คุณค่าทางอาหาร ซึ่งจะช่วยธุรกิจให้ก้าวไกลไปข้างหน้า เช่น ลงทุนในบริษัท วิอาควา เธอราปิดิกส์ (ViAqua Therapeutics) สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีชีวภาพสัญชาติอิสราเอล ที่มีเทคโนโลยีและวิธีการช่วยบริหารการป้องกันโรคในกุ้งและสัตว์น้ำอื่นๆ บริษัท บลูนาลู สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารจากแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้นำในการพัฒนาโปรตีนอาหารทะเลจากเซลล์เพาะเลี้ยงที่ได้รสชาติ เนื้อสัมผัสและมีคุณค่าทางโภชนาการเทียบเท่าอาหารทะเล

นอกจากนี้ ยังเปิดศักราชปี 2564 ด้วยการจับมือ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์มา จำกัด (มหาชน) หรือ IP ร่วมลงทุนภายใต้ชื่อ “บริษัท อินเตอร์ฟาร์มา-ซีวิต้า จำกัด” เพื่อดำเนินการวิจัยและพัฒนา (R&D) รวมไปถึงการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ตอบรับกระแสความต้องการของผู้บริโภคที่หันมาดูแลใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น และในปีที่ผ่านมายังมีการร่วมทุนกับไทยเบฟ ภายใต้บริษัท เบฟเทค จำกัด จัดตั้ง บริษัท ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ ยูไนเต็ด จำกัดในการพัฒนาสินค้า ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ

เติบโตเข้าเป้า

ทางด้านธุรกิจ แม้คาดว่าโควิด-19 ยังอยู่จนถึงสิ้นปี บริษัทน่าจะบรรลุเป้าหมายปี 2564 คาดว่ายอดขายจะเติบโต 3-5% อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 17% ขณะที่สัดส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขายอยู่ที่ ระดับ 11-12% ยังมีโอกาสได้กำไรพิเศษ จากการเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ ให้ประชาชนครั้งแรก (IPO) ภายในปีนี้

ส่วนเป้าหมาย 5 ปี ตามแผนกลยุทธ์ ในปี 2568 คาดว่าจะมีรายได้มาจากนวัตกรรมสัดส่วน 10% ซึ่งส่วนนี้มีกำไรขั้นต้นมากกว่า 20% รวมถึงการปรับต้นทุนแปรสภาพประจำปี 3% โดยมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (อีบิทดา) 450-550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นประมาณ 14,000-17,000 ล้านบาทเศษ ขณะที่ปี 2563 ทำได้จำนวน 12,959 ล้านบาท

สรุปบรรทัดสุดท้ายกับการบริหารงานของไทยยูเนี่ยนว่าได้สร้างรากฐานที่มั่นคงในการที่จะสามารถเติบโตได้ทุกสถานการณ์ และเป็นธุรกิจอาหารที่มีคุณภาพตอบสนองเทรนด์ระยะยาวของผู้บริโภคทั่วโลก จะช่วยเพิ่มสร้างรายได้และกำไรของ TU ให้ดียิ่งขึ้น