บล.เอเซียพลัส ชี้ค่าเงินตุรกีดิ่งหนัก กระทบการค้า-การลงทุนโลก

บล.เอเซียพลัส ประเมินวิกฤตค่าเงินตุรกี จะกดดันค่าเงินประเทศที่มีความสัมพันธ์การค้ากับตุรกี โดยเฉพาะสหภาพยุโรป คู่ค้าหลัก ส่งผลกระทบการค้าและการลงทุน ฉุดตลาดหุ้นทั่วโลกร่วง ตลาดหุ้นไทยโดนด้วย

ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย พลัส รายงานว่า เพียงแค่สัปดาห์เดียว ค่าเงินลีราของตุรกีอ่อนค่าลงถึง 38% ยังลดลงถึง 82% จากต้นปีมา

ตุรกีประสบปัญหาขาดดุลการค้า ติดต่อกันถึง 33 ปี ตั้งแต่ปี 2528-ปัจจุบัน และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ติดต่อกันตั้งแต่เดือนพ.ค.2559 ประเทศคู่ค้าหลักของตุรกี คือ เยอรมัน, จีน, รัสเซีย, สหรัฐฯ และอิตาลี

ตุรกีขาดดุลการค้ากับจีนมากสุดราว 28% ของยอดขาดดุลการค้ากับทั่วโลก รองลงมาคือ รัสเซีย 23.1%, เกาหลีใต้ 8.3%, เยอรมัน 8.1%, สวิสเซอแลนด์ 7.6% เป็นต้น ประเทศคู่ค้าหลักของตุรกี คือ เยอรมัน, จีน, รัสเซีย, สหรัฐ และอิตาลี

สินค้านำเข้าจากหลัก คือ ปิโตรเลียม นำเข้าจากรัสเซีย 31% ของนำเข้ารวม บัลแกเรีย 7.2% อิตาลี 6.1% , เครื่องจักร นำเข้าจากเอเซีย 35% เยอรมัน 20% ญี่ปุ่น 19%, อุปกรณ์ไฟฟ้า นำเข้าจากบัลแกเรีย 49% กรีซ 16% สโลวิเนีย 13%, อัญมณี นำเข้าจาก อินเดีย 48% UAE 25% ฮ่องกง 7,1%, ยานยนต์ นำเข้าจากเยอรมัน 22% อิตาลี 12% ฝรั่งเศส 8.5% เป็นต้น

สินค้าส่งออกไปทั่วโลก คือ ยานยนต์ ตลาดหลักคือเยอรมัน 22%, ฝรั่งเศส 8.5%, อังกฤษ 8.4%, เครื่องนุ่งห่มส่งออกไปเยอรมัน 22% อิตาลี 12% ฝรั่งเศส 8.5%, เหล็ก ส่งไปเยอรมัน 36% เบลเยียม 14% สโลวิเนีย 13% , เครื่องจักร ส่งไปเยอรมัน 16.7%, อังกฤษ 5.8% สหรัฐฯ 5.4%, อัญมณี ส่งไปสหรัฐอาหรับฯ 62.2% อิรัก14.5% สหรัฐ 8.5%

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าเหล็ก และอลูมิเนียมจากตุรกีอีก 1 เท่าตัว เป็น 50% และ 20% หลังต้นปี 2561 ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมจากทั่วโลก อัตรา 25% และ 10% ไปแล้ว เพราะสหรัฐฯเชื่อว่าตุรกีมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซีย ที่เป็นคู่ขัดแย้งการเมืองกับสหรัฐฯ

ปัญหาดังกล่าวกดดันค่าเงินลีราของตุรกีอ่อนค่าต่อเนื่องหลายปี รวมทั้งกดดันเงินเฟ้อ ล่าสุดเดือนส.ค. พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 15.85% จาก 15.3% เดือนก.ค. และจาก 12.15% เดือนมิ.ย. และจาก 10.85%เดือนพ.ค. ทำให้ธนาคารกลางตุรกีขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 2 ครั้ง รวม 9% คือจาก 7.5% เป็น 16.5% ถือเป็นการกดดันเศรษฐกิจตุรกีที่รุนแรง

ค่าเงินตกต่ำรุนแรง ทำให้ธนาคารกลางตุรกีกลับมาใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายอีกรอบ โดยลด Reserve Required Ratio ทันที 2.5% เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่เดิม ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส เชื่อว่าว่ายังต้องมีนโยบายผ่อนคลายเพิ่ม เพื่อลดวิกฤตครั้งนี้

ฝ่ายวิจัยฯ ประเมินว่าวิกฤตค่าเงินตุรกี จะกดดันค่าเงินประเทศที่มีความสัมพันธ์การค้ากับตุรกี โดยเฉพาะคู่ค้าหลัก นั่นก็คือ สหภาพยุโรป สัดส่วน 28% ของยอดค้ารวม พบว่าช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินยูโรอ่อนค่า 2.4% หรือลดลง 8% นับจากสหรัฐฯขึ้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียม, เงินหยวนของจีน ลดลง 8.6% นับจากเดือนก.พ.เป็นต้น

ขณะที่ตลาดหุ้น พบว่าตลาดหุ้นตุรกีตกต่ำมากสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก 56.56% รองจากเวเนซุเอลา ซึ่งกระทบจากการเมืองในประเทศ และยังเป็น 1 ใน 2 ประเทศ ที่ถูกสหรัฐฯ ควํ่าบาตรทางการค้า ขณะที่อาร์เจนตินา และจีนติดลบมากเป็นอันดับที่ 3 และ 4

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส เชื่อว่า ค่าเงินโลกที่ผันผวนจะกระทบการค้าและการลงทุน จะกดดันตลาดหุ้นทั่วโลก ขณะที่ตลาดหุ้นไทย คงหลีกเลี่ยงผลกระทบไม่ได้ แม้ว่านับจากต้นปีมา หุ้นไทยติดลบเพียง 2.7% ถือว่า outperform ตลาดหุ้นโลกหลายแห่ง โดยเฉพาะในเอเชีย คือ อินโดนีเซีย ลบ 7.7%, ฟิลิปปินส์ ลบ 10.6% ยกเว้น เวียดนาม และ มาเลเซียติดลบเพียง 1% ส่วนอินเดียบวก 10.5%