HoonSmart.com>> “สภาธุรกิจตลาดทุนไทย” เปิดผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนใน 3 เดือนข้างหน้า ลงมาอยู่ที่ 106.05 อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” ครั้งแรกรอบ 8 เดือน จาก “ร้อนแรง” เจอแพร่ระบาดโควิด-19 นักลงทุนชอบกลุ่มการแพทย์-ไม่ชอบแฟชั่น ไตรมาส 3 ลง แต่ไม่หลุด 1,500 จุด แนะหุ้นปลอดภัย-มั่นคง-ปันผลดี ไตรมาส 4 ลงทุนหุ้นเปิดเมือง คาดเงินไหลเข้า คงเป้าดัชนีสิ้นปีนี้ 1,650 จุด ปี 65 กลับสู่ระดับ 1,800 จุด หนุนการเปิดประเทศ-รัฐกระตุ้นต่อเนื่อง
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ในเดือน มิ.ย.2564 พบว่า ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ก.ย.) อยู่ที่ระดับ 106.05 ลดลง 16.1% มาอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” ครั้งแรกในรอบ 8 เดือนที่ผ่านมา จากเดือนก่อนที่อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” เนื่องจากดัชนีหุ้นปีนี้จนถึงสิ้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นประมาณ 9.6% ราคาหุ้นเริ่มสูงขึ้น การแพร่ระบาดรอบใหม่ยังสูงขึ้น และจากผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ ที่มติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดการณ์ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และเม็ดเงินลงทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market)
สำหรับปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือแผนการกระจายวัคซีนในประเทศ ส่วนปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นมากที่สุด คือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สูงขึ้น โดยให้หมวดธุรกิจการแพทย์ (HEALTH) น่าสนใจมากที่สุด และธุรกิจแฟชั่น (FASHION) ไม่น่าสนใจที่สุด
ด้านทิศทางตลาดหุ้นครึ่งหลังของปี 2564 คาดว่ายังอยู่ในเกณฑ์ขาขึ้นต่อเนื่องไปอีก 12 เดือนข้างหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจจะค่อยๆฟื้นตัว กำไรบริษัทจดทะเบียนที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น 56% เมื่อเทียบกับปีก่อน และการฉีดวัคซีนตามแผนเดือนละ 10 ล้านโดส ซึ่งในอีกด้านก็เป็นปัจจัยเสี่ยง ถ้าเกิดความล่าช้า อาจจะส่งผลเชิงลบได้ แต่มองว่าการฉีดวัคซีนจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ เนื่องจากประเทศที่มีการฉีดวัคซีนจำนวนมากแล้ว คาดว่าจะเริ่มกระจายมามากขึ้น จากวันหมดอายุของวัคซีน
อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงยังมีเรื่องของการเปิดประเทศ ถ้าหากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในปี 2564 มีปริมาณที่น้อยกว่าช่วงปกติก่อนเกิดโควิด-19 คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ปรับตัวขึ้นน้อยกว่าคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1.8% ซึ่งต้องติดตามการออกมาตรการต่างๆจากภาครัฐว่าจะมีการกระตุ้นอย่างไรต่อไปในอนาคต
นายไพบูลย์ กล่าวถึงทิศทางของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ คาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เข้ามาหนุนดัชนีหุ้น เมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลงจากระดับปัจจุบันที่ 6,000 ราย ก็อาจจะเริ่มเห็นสัญญาณที่เงินไหลเข้ามาตลาดเกิดใหม่ และตลาดหุ้นมากขึ้น ประกอบกับถ้าสัญญาณค่าเงินดอลลาร์ส่งสัญญาณอ่อนค่าก็จะส่งผลดีเช่นกัน อีกหนึ่งความน่าใจของตลาดหุ้นไทยยังมีหุ้น Value จำนวนมาก และหุ้นยังปรับตัวขึ้นช้ากว่ามากเมื่อเทียบกับตลาดต่างประเทศ เชื่อว่าเงิน จะไหลเข้าแน่นอนในช่วงไตรมาส 4 โดยยังคงเป้าหมายดัชนีสิ้นปี 2564 ที่ 1,650 จุด
“กลยุทธ์การลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เราประเมินว่าในไตรมาส 3 ยังมีปัจจัยกดดันจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังปรับตัวขึ้น แต่ก็มีการกระจายวัคซีนเข้ามาพยุงดัชนีอยู่ คาดดัชนีจะทรงตัว แต่คงไม่หลุด 1,500 จุดแน่นอน แนะนำซื้อหุ้นในกลุ่มที่เป็นหุ้นปลอดภัย มั่นคง ปันผลดี หรือ กลุ่มการแพทย์ (HEALTH) ก็ได้ และเมื่อสัญญาณต่างๆเริ่มมาตามแผนจริงๆ ทั้งการเปิดเมือง และเงินเริ่มไหลมาตามคาด หุ้นในกลุ่มที่เกาะกระแสตามการเปิดเมืองหรือประเทศ ก็น่าสนใจในการลงทุน” นายไพบูลย์ กล่าว
ขณะที่ปี 2565 คาดว่าตลาดหุ้นไทยมีความโดดเด่น จากการที่ยังมีปัจจัยบวกรอยู่จากการเปิดประเทศ และมูลค่าราคาหุ้น (Valuation) ยังถูกกว่ามากเมื่อเทียบกับตลาดต่างประเทศที่ตอบรับปัจจัยบวกไปเกือบหมดแล้ว รวมถึงกำไรบริษัทจดทะเบียนคาดว่าจะเติบโตจากปี 2564 ขึ้นมาประมาณ 15% โดยตั้งเป้าดัชนีสิ้นปี 2565 ที่ระดับ 1,800 จุด กลับไปใกล้เคียงกับดัชนีระหว่างปี 2017-2018 ที่มีจุดสูงสุดที่ 1,838.96 จุด นอกจากนี้คาดว่ายังมีปัจจัยบวกจากการกระตุ้นของภาครัฐที่จะออกมาอย่างต่อเนื่องด้วย