KTC กำไรพุ่ง 66% แตะ 1.3 พันล้าน

“บัตรกรุงไทย” ไตรมาส 2 กำไรสุทธิ 1.3 พันล้านบาท เติบโต 66% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เหตุรายได้รวมเพิ่ม 9% รับผลกระทบเกณฑ์ปรับลดดอกเบี้ยบัตรเครดิตไม่มาก

บริษัท บัตรกรุงไทย (KTC) แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.2561 มีกำไรสุทธิ 1,305.88 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 5.06 บาท เพิ่มขึ้น 66% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 786.65 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 3.05 บาท

ส่วนงวด 6 เดือน ปี 2561 กำไรสุทธิ 2,514.80 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 9.75 บาท เพิ่มขึ้น 65.53%จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 1,519.19 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 5.89 บาท

บริษัทฯ มีรายได้รวมในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาจำนวน 5,259 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% โดยมีสัดส่วนรายได้มาจากรายได้ดอกเบี้ย (รวมรายได้ค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน) รายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้อื่นๆ จำนวน 3,126 ล้านบาท 1,199 ล้านบาท และ 934 ล้านบาท ตามลำดับ มีสัดส่วนคิดเป็น 59% 23% และ 18% ของรายได้รวม ตามลำดับ โดยในส่วนของรายได้อื่นๆ นั้น 93% มาจากหนี้สูญได้รับคืน

รายได้ดอกเบี้ยส่วนใหญ่เพิ่มจากลูกหนี้สินเชื่อบุคคลที่ยังเติบโตได้ดี พอร์ตลูกหนี้บัตรเครดิตรวมและลูกหนี้สินเชื่อบุคคลรวมเพิ่มขึ้น 4% และ 13% ตามลำดับ รายได้ดอกเบี้ย รวมรายได้ค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน) ของธุรกิจบัตรเครดิตลดลง 4% จากผลกระทบของเกณฑ์ปรับลดการคิดดอกเบี้ยของสินเชื่อบัตรเครดิตจาก 20% เป็น 18% ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยของสินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้น 15% แม้ว่ารายได้ดอกเบี้ยบัตรเครดิตจะหดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชดเชยด้วยรายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อบุคคลที่เติบโตได้ดี ทำให้ภาพรายได้ดอกเบี้ยรวมของบริษัทเพิ่ท 5%

ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยลดลงจากรายได้ดอกเบี้ยลดลงเล็กน้อยเหลือ 15.63% จากงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 15.85% จากอัตราดอกเบี้ยรับเฉลี่ยในไตรมาส 2 เท่ากับ 18.62% ลดลงจาก 19.08% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบของการปรับลดการคิดอัตราดอกเบี้ยรับของสินเชื่อบัตรเครดิต ขณะที่บริษํทสามารถจัดหาเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้ต้นทุนการเงินเท่ากับ 2.99% ลดลงจาก 3.23% หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ค่าใช้จ่ายรวมมีจำนวน 3,626 ล้านบาท ลดลง 5% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ NPL ต่อพอร์ตรวมครึ่งปีอยู่ที่ 1.3% ลดลงจาดช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1.6% โดย NPL ของบัตรเครดิตลดลงจาก 1.2% เหลือ 1.1% และ NPL ของสินเชื่อบุคคลลดลงจาก 0.9% เป็น 0.8% ส่วนหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูฐมีจำนวน 1,397 ล้านบาท ลดลง 17% จาก 1,676 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากพอร์ตรวมของบริษัทเติบโตในลักษณะชะลอตัวลงจากการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นและเกณฑ์ควบคุมใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ประกอบกับคุณภาพหนี้ที่ดีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทตั้งสำรองและตัดหนี้สูญลดลง

อย่างไรก็ตามภาพรวมในปี 2561 บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตการขยายปริมาณการใช้จ่ายบัตรรวมไม่ต่ำกว่า 15% โดยครึ่งปีที่ผ่านมาขยายตัวได้จริง 8% อีกทั้งตั้งเป้าหมายสำหรับพอร์ตลูกหนี้ขยายตัว 10% ณ ไตรมาส 2 บริษัทเติบโตได้จริง 7% ขณะที่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ณ สิ้นไตรมาส 2 อยู่ที่ 1.3% เท่ากับเป้าหมายที่กำหนดไว้ สำหรับผลกำไรบริษัทตั้งประมาณการณ์ไว้ให้สูงกว่าปี 2560 ที่มีมูลค่า 3,304 ล้านบาท โดยครึ่งปีแรกทำกำไรได้ 2,515 ล้านบาท