บล.ไทยพาณิชย์มองแบงก์น่าสน กำไร 4.56 หมื่นลบ. Q2/64 ราคาถูกมาก

HoonSmart.com>> บล.ไทยพาณิชย์คาดกลุ่มแบงก์กำไรครึ่งปีหลังลดลง 18% จากครึ่งปีแรก รวมทั้งปีโต 20% ปีหน้าขยายตัว 8% มองจ่ายปันผลกลางปีนี้ไม่สวย ยกเว้น TCAP  แนะนำมองหุ้นธนาคาร  เหตุ 3 เดือนราคาร่วงแรง 14% รับปัจจัยลบ มูลค่าถูก ชู BBL เด่นสุด เป้า 165 บาท ตลาดหุ้นพลิก กลับแรง 12 จุดได้ SCC -ปิโตรฯช่วย ส่วนเงินบาทอ่อนหลุด 32 บาท ธปท.เผยเงินไหลออก คนไทยขนเงินลงทุนต่างประเทศ ครม.ผ่านมาตรการเยียวยากึ่งล็อกดาวน์ 

นายกิตติมา สัตยพันธ์ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐาน ด้านหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่า กำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารในไตรมาส 2/2564 อยู่ที่ 45,640 ล้านบาท คาดว่าจะลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ประมาณ -4% (-16% ถ้าตัดกำไรจากเงินลงทุนในบริษัท เงินติดล้อ-TIDLOR ของ BAY ออกไป) กำไรที่ลดลงจากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น หลังการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิ (Non-NII) ลดลง

ขณะเดียวกันหากเทียบกันช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY)  กำไรเติบโตถึง 47% เนื่องจากการตั้งสำรองที่ลดลง จากที่ตั้งสำรองไว้สูงมาก รวมถึงมีรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิที่สูงขึ้น ซึ่งถ้าตัดกำไรจากเงินลงทุนใน TIDLOR ของ BAY ออกไป เหลือเติบโต 29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนเงินปันผลกลางปีนี้ คาดว่าจะมีเพียง บริษัท ทุนธนชาต (TCAP) ที่จ่ายปันผลได้น่าสนใจ

ส่วนแนวโน้มกำไรครึ่งปีหลัง คาดว่าจะลดลงประมาณ 18% จากครึ่งปีแรก รวมแนวโน้มในปี 2564 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 20% แม้มีความเสี่ยงเรื่องคุณภาพสินทรัพย์ จากโควิดเกิดขึ้นรอบใหม่ แต่เชื่อว่าระดับการตั้งสำรองเพียงพอ และแนวโน้มในปี 2565 คาดว่าจะเติบโตขึ้นประมาณ 8% จากการตั้งสำรองที่ลดลงต่อเนื่อง และตัวถ่วงจากการปรับอัตรานำเข้าส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ เพิ่มขึ้น 23 bps กลับสู่ระดับปกติที่ 0.46% แต่มีความเป็นไปได้ที่ธปท.จะขยายระยะเวลาการลดอัตรานำส่งเงินสมทบฯ ส่งผลให้ประมาณการกำไรสุทธิเติบโต 14% จากปีนี้

อย่างไรก็ตามดัชนีกลุ่มธนาคาร (SETBANK) ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ปรับตัวลดลง 14% เมื่อเทียบกับ SET ที่ปรับลด 1% เชื่อว่าปัจจุบันกลุ่มธนาคารได้ตอบรับปัจจัยเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ไปเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งมูลค่าราคาหุ้น (Valuation) ปัจจุบันยังไม่แพง การลงทุนอยากให้นักลงทุนหันมาสนใจเรื่องการฟื้นตัวที่ดีในปี 2565 โดยแนะนำ BBL เป็นหุ้นเด่นของกลุ่มธนาคาร ราคาเป้าหมาย 165 บาท  คาดว่าไตรมาส 2/2564 มีกำไรสุทธิ  5,849 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 89% จากช่วงเดียวกันของปีแล้ว และลดลง 16% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า คาดจ่ายปันผลปี 2564 หุ้นละ  4 บาท หรือ 3.51%

ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) จะมีกำไรสุทธิสูงสุด  10,621 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63% เมื่อเทียบกันช่วงเดียวกันของปีแล้ว และเพิ่มขึ้น 63% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เพราะมีกำไรจากขายหุ้น TIDLOR ส่วนการจ่ายปันผลปี 2564 คาดอยู่ที่ 0.56 บาท หรือ 1.83%

ส่วนธนาคารกสิกรไทย (KBANK) คาดกำไรสุทธิอยู่ที่ 9,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 337% เมื่อเทียบกันช่วงเดียวกันของปีแล้ว และลดลง 11% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการจ่ายปันผลปี 2564 คาดอยู่ที่ 2.74 บาท หรือ 2.31% ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) คาดกำไรสุทธิอยู่ที่ 8,010 ล้านบาท ลดลง 3% เมื่อเทียบกันช่วงเดียวกันของปีแล้ว และลดลง 21% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการจ่ายปันผลปี 2564 คาดอยู่ที่ 2.84 บาท หรือ 2.88%

ด้านตลาดหุ้นวันที่ 29 มิ.ย. 2564 หุ้นไทยปรับตัวขึ้นโดดเด่น ดัชนีพลิกกลับแรงปิดที่ 1,591.43  จุด เพิ่มขึ้น 12.26  จุด หรือ +0.78% ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 79,039.37 ล้านบาท ฝีมือกองทุนไทยซื้อ 1,084 ล้านบาท ต่างชาติขายต่อ 429 ล้านบาท

ตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นสวนทางตลาดภูมิภาคและต่างประเทศ เกิดจากการซื้อกลับหุ้นขนาดใหญ่ ในกลุ่มปิโตรเคมี และกลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากคำสั่งกึ่งล็อกดาวน์ เช่น ธุรกิจบรรจุภัณฑ์  SCGP ส่งผลต่อเนื่องถึง SCC  ที่ถือหุ้นใหญ่ และยังมีกำไรที่ดีขึ้นจากธุรกิจปิโตรเคมีด้วย

สำหรับเงินบาทอ่อนค่าต่ำกว่า 32 บาท/ดอลลาร์ น.ส.ภาวิณี จิตต์มงคลเสมอ ผู้อำนวยการฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าเงินบาทอ่อนในระยะนี้ มีปัจจัยหลักมาจากต่างประเทศ ค่าเงินของหลายประเทศในภูมิภาคก็ปรับตัวอ่อนค่าเช่นกัน เพียงแต่เงินบาทอาจจะอ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินอื่น จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง

ส่วนภาวะเงินทุนไหลออก  พบว่าตั้งแต่ต้นปีจะเห็นคนไทยออกไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศสูงเป็นประวัติการณ์  สถานการณ์โลกที่เอื้อให้ผลตอบแทนของต่างประเทศค่อนข้างดี ขณะที่ตลาดพันธบัตร  ยังเป็นเงินทุนไหลเข้า ซึ่งยังไม่เห็นสัญญาณใดๆ เป็นที่น่ากังวล แต่ธปท.จะติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ด้านการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 29 มิ.ย. ตามคาด ผ่านหลักการเยียวยาลูกจ้าง-ผู้ประกอบการ 6 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งกึ่งล็อกดาวน์  เช่น จะได้รับเงินช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคม ซึ่งลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท ตลอดระยะเวลาที่มีคำสั่งปิดสถานที่กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือน ก.ค.64 จะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน ส่วนลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 2,000 บาทต่อคน

นอกจากนี้ครม.รับทราบเรื่องแบงก์รัฐขยายเวลาพักชำระหนี้-ขยายเวลายื่นขอสินเชื่อช่วย SME ถึงสิ้นปีนี้