ธปท.ยอมรับยอดผู้ติดเชื้อโควิดกดดัน ”เงินบาทอ่อนค่า”

HoonSmart.com>>ธปท.ยอมรับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่ยังอยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่ามากกว่าสกุลอื่นในภูมิภาค ย้ำติดตามสถานการณ์ค่าเงินอย่างใกล้ชิด พร้อมเดินหน้า FX ecosystem เฟส 2 คาดมีผลบังคับใช้สิ้นปี 2564

นางชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. ชี้แจงเงินบาทอ่อนค่าแตะระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปัจจัยหลักมาจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับหลายประเทศในภูมิภาคนี้ แต่ยอมรับว่าเงินบาทของไทยปรับอ่อนค่าลงมากกว่าประเทศอื่น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก ขณะที่ผู้ติดเชื้อโควิคในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สูง

สำหรับการเคลื่อนย้ายเงินทุน ตั้งแต่ต้นปียังมีเงินไหลเข้าในตลาดพันธบัตร แต่ในตลาดหุ้นสุทธิยังเป็นการไหลออก ซึ่งธปท.จะติดตามการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างใกล้ชิด

ธปท.กล่าวถึงความคืบหน้า แผนการผลักดันระบบนิเวศใหม่ของอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem)ว่า ธปท.ได้ดำเนินการประสบผลสำเร็จไปแล้ว 4 เรื่องสำคัญ คือ
1.การปรับเกณฑ์บัญชี FCD ให้สะดวกคล้ายบัญชีเงินบาท ทำให้
– การใช้บัญชี FCD ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจำนวนบัญชีและผู้ใช้บริการ โดยปริมาณธุรกรรมเฉลี่ยต่อเดือนปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากประมาณ 101.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (เดือน ม.ค. 63 ถึงเดือน พ.ย. 63) เป็น 140.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (เดือน ธ.ค. 63 ถึงเดือน เม.ย. 64)
– ผู้ได้รับประโยชน์จากการผ่อนคลายส่วนใหญ่เป็นรายใหม่ และกระจายไปในทุกกลุ่ม โดยจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่เป็นกลุ่มบุคคลธรรมดากว่าร้อยละ 60 ที่ทำเพื่อซื้อขายทองคำเป็นสกุลดอลลาร์ สรอ.

2.ปรับเกณฑ์และกระบวนการลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศให้ง่ายและสะดวกขึ้น
โดย 1) เพิ่มวงเงินลงทุนรายย่อยเป็น 5 ล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี 2) ยกเลิกการจัดสรรวงเงินลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันภายใต้ ก.ล.ต. และยกเลิกการจำกัดวงเงินของการลงทุนผ่านตัวแทน 3) ขยายขอบเขตสินทรัพย์ FX ที่สามารถซื้อขายในประเทศ ให้รวมถึงตราสารทางการเงินทุกประเภท และการซื้อขายทองคำด้วยสกุลเงินดอลลาร์ สรอ.
– เกณฑ์ที่ผ่อนคลายมากขึ้น ช่วยสนับสนุนให้การลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยนับจากไตรมาสสุดท้ายปี 63 ถึงเดือน พ.ค. 64 คนไทยออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศกว่า 17.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่มีค่าเฉลี่ยการออกไปลงทุนต่อปีเพียง 3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และค่าสูงสุดต่อปีที่ 10 พันล้านดอลลาร์ สรอ.
– การลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากการกระจายการลงทุนของบุคคลทั่วไปเป็นหลัก โดยจำนวนผู้ลงทุนรายย่อยที่บริหารการลงทุนเองปรับเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า จาก 15,660 ราย เป็น 34,897 ราย

3. การลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ (Bond Investor Registration : BIR)
เพื่อยกระดับการติดตามเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยในระยะแรกจะเริ่มดำเนินการกับนักลงทุนต่างชาติก่อน และจะดำเนินการกับนักลงทุนในประเทศต่อไป

4. โครงการ Non-resident Qualified Company (NRQC)
– ตั้งแต่เดือน ม.ค. 64 ถึงเดือน มิ.ย. 64 นิติบุคคลต่างประเทศสมัครเข้าร่วมโครงการ NRQC จำนวน 27 ราย จากหลายอุตสาหกรรม อาทิ ปิโตรเคมี ยานยนต์ และเทคโนโลยี ส่งผลให้มีธุรกรรมของ NRQC กับสถาบันการเงินไทยแล้วประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

ส่วนการผลักดัน FX ecosystem ระยะถัดไป: เช่น การปรับหลักเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงิน (FX Regulatory Framework) เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถรองรับความผันผวนของค่าเงินได้ดีขึ้น มีแนวทางเบื้องต้นดังนี้ (1) ลดข้อจำกัดการใช้ FX ทั้งในและต่างประเทศ (2) ผู้ที่มีความเสี่ยง FX สามารถป้องกันความเสี่ยงได้ง่ายและยืดหยุ่นขึ้น (3) ยกเว้นการแสดงเอกสารสำหรับธุรกรรมที่ทำเป็นปกติ โดยได้หารือกับ stakeholders และอยู่ระหว่างการปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องร่วมกับกระทรวงการคลัง ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปี 2564