บริษัท สายการบินนกแอร์ (NOK) ผู้ให้บริการสายการบินต้นทุนต่ำหรือโลว์คอสต์ เป็นหนึ่งในสามหุ้นที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย C และหนีไม่พ้นที่จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ หลังจากมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบจำนวน 406 ล้านบาท และขาดทุนสะสมมากถึง 6,196 ล้านบาท
ขณะนี้ “นกแอร์”ตกอยู่ในภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว คือมีหนี้สินทั้งหมด 6,623 ล้านบาท สูงกว่าสินทรัพย์ที่มีอยู่จำนวน 6,217 ล้านบาท โดยเฉพาะเจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้หมุนเวียนอื่นที่มีมากถึง 4,866 ล้านบาท ส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินมีเพียง 700 ล้านบาทเท่านั้น ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2561
ประเด็นที่สำคัญ นกแอร์กำลังเผชิญกับวิกฤตทางการเงิน ขาดสภาพคล่องอย่างหนัก จนต้องขอมติบอร์ด กู้ยืมเงินจากผู้ถือหุ้นใหญ่ “กลุ่มจุฬางกรู” จำนวน 500 ล้านบาท แลกกับการจ่ายอัตราดอกเบี้ย 6% ต่อปี เพราะเงินเพิ่มทุนที่เหลือติดกระเป๋ามาจากสิ้นปีก่อน จำนวน 1,548.86 ล้านบาท ได้ใช้ไปทั้งหมดแล้วเมื่อกลางปี 2561 ที่ผ่านมา
ทำไม NOK ถึงไม่เลือกใช้สินเชื่อจากแบงก์ หรือไม่ก็เพิ่มทุนจดทะเบียนแทน คำตอบคือ ทำไม่ได้
บริษัทสายการบินนกแอร์ ประสบปัญหาขาดทุนมานานหลายปี เพราะธุรกิจแข่งขันไม่ได้ ท่ามกลางสมรภูมิโลว์คอสต์แข่งขันกันดุเดือด แบงก์ที่เคยให้กู้ ต้องคิดหนัก วงเงินกู้ที่เคยให้ก็ต้องถอนสมอออกไปในที่สุด
ทางเลือกเพิ่มทุนจดทะเบียน ไม่ต้องพูดถึง ขณะนี้น่าจะถึงทางตันเสียแล้ว
เพราะในปี 2560 NOK เพิ่งขอรบกวนผู้ถือหุ้นถึง 2 ครั้ง ได้รับเงินมารวมทั้งสิ้น 2,919 ล้านบาท จากเดิมที่มีทุนเรียกชำระแล้วเพียง 625 ล้านบาท
ครั้งแรก วันที่ 29 พ.ค. 2560 บริษัทรับเงินสดๆ จำนวน 1,224 ล้านบาท จากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในราคา 2.50 บาท โดยแถมใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นหรือวอร์แรนต์ รุ่นที่ 1 (NOK-W1)ให้กับผู้ถือหุ้น
ถ้ายังจำกันได้ ครั้งแรก บริษัทการบินไทย ตัดสินใจถูกต้อง ที่ไม่ใส่เงินเพิ่มทุนตามสิทธิ จนทำให้สัดส่วนการถือหุ้นลดลงจาก จาก 39.20% เหลือจำนวน 21.57 %
ขณะที่กลุ่มจุฬางกรู กลับเพิ่มทุนมากกว่าสิทธิ จนผงาดขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ประมาณ 49% ของทุนเรียกชำระแล้ว
ส่วนการเพิ่มทุนครั้งที่ 2 NOK ปรับลดราคาขายหุ้นเหลือหุ้นละ 1.50 บาท แม้ว่าบริษัทการบินไทยได้ปฎิเสธแล้วก็ตาม แต่หนีไม่พ้น ไม่รู้ว่าเห็นราคาถูก หรือมีพลังมาจากไหน ทำให้การบินไทยต้องใส่เงินเพิ่มทุนเข้าไป จำนวน 380 ล้านบาท เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นจำนวน 21.57%
ในตอนนั้น “อุษณีย์ แสงสิงแก้ว” รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย ให้สัมภาษณ์ว่า บอร์ดการบินไทยมีมติให้ใช้สิทธิเพิ่มทุนในบริษัท สายการบินนกแอร์ ภายในวงเงินประมาณ 380 ล้านบาท เนื่องจากนกแอร์มีแผนฟื้นฟูและแนวทางการบริหารจัดการชัดเจน ซึ่งตามแผนระยะ 5 ปี ระบุว่านกแอร์จะสามารถมีกำไรได้ในปี 2561
ในช่วงเวลาใกล้เคียงนั้น “พาที สารสิน” ได้ลาออกจากตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NOK และบอร์ดมีมติแต่งตั้ง “ปิยะ ยอดมณี”เข้ามารับตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แทน เมื่อกลางเดือนก.ย. 2560 ที่ผ่านมา
“ปิยะ” มาพร้อมกับแผนฟื้นฟูหลัก ทำให้บริษัทพลิกฟื้นหรือเทิร์นอะราวด์ แต่บริษัทจะต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูธุรกิจ ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปี คือ ตั้งแต่ปี 2560-2562
แต่ภายใต้สถานการณ์การแข่งขันและปัจจัยแวดล้อมของธุรกิจการบิน ไม่ใช่เฉพาะ”โลว์คอสต์”เท่านั้น บริษัท สายการบินนกแอร์ น่าจะต้องอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการนานกว่า 3 ปี คู่แข่งเข้ามามาก และผู้ประกอบการแต่ละรายมีความแข็งแกร่ง พร้อมสู้ราคากันดุเดือด
ขณะที่นกแอร์ ฐานะการเงินย่ำแย่มานาน โมเดลธุรกิจสู้ไม่ไหว สะท้อนถึงขาดทุนเกือบทุกวัน ในช่วงเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนจากทรัพย์สิน(ROA)ติดลบตลอด โดยเฉพาะปี 2559 ติดลบถึง 48% ส่วนอัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น(ROE) ก็ติดลบหนักมากขึ้นเรื่อยๆ จาก ติดลบ 170% ในปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 238% ในปี 2560 และไตรมาส1/2561 ขึ้นมาอยู่ที่ 257% เช่นเดียวกัน อัตรากำไรสุทธิติดลบตลอด
ดังนั้น ผู้ถือหุ้น NOK จะต้องคิดให้ดีว่าจะถือหุ้นต่อไป เพื่อรอเวลาให้บริษัทกลับมาใหม่ หรือจะขายหุ้นออกไปก่อนดีกว่า โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อยที่มีจำนวน 9,246 คน คิดเป็นประมาณ 28%ของทุนเรียกชำระแล้ว
สำหรับบริษัท การบินไทย(THAI) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสอง สัดส่วน 21.80% คงต้องกอดหุ้น NOK ต่อไป
ในส่วนนักลงทุนรายใหม่จะเข้ามาลุย เมื่อเห็นราคาร่วงลงแรง ก็ต้องมีสติ และนับตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค.2561 เป็นต้นไป หุ้น NOK ติดแคชบาลานซ์ ตามเกณฑ์เครื่องหมาย C นักลงทุนจะต้องวางเงินสดทั้ง 100 % ก่อนสั่งออเดอร์
เพราะหากซื้อหุ้นแล้วออกไม่ได้รอบนี้ อาจจะต้องถูกแช่แข็งนานกว่า 3 ปี ก็เป็นไปได้สูง และยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรข้างหน้า ความไม่แน่นอนมีอยู่ค่อนข้างสูง จะต้องระมัดระวังการลงทุนอย่างที่ตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมาย C เตือนไว้แล้ว
***********
ติดตามข่าว หุ้นเด่น ประเด็นร้อน #HoonSmart #หุ้นสมาร์ท ได้ที่
Facebook : www.facebook.com/HoonSmart
Line : https://line.me/R/ti/p/%40hoonsmart.com