SCBAM : “ดัชนี Composite PMI ของสหรัฐฯ ยังอยู่ในแดนขยายตัว”

• ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นส่วนใหญ่ค่อนข้างผันผวน หลังจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 กลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง จากเชื้อกลายพันธุ์ Delta ซึ่งมีจุดกำเนิดในอินเดีย โดยเฉพาะประเทศแถบยุโรป อีกทั้งในช่วงก่อนหน้า Fed เริ่มมีการส่งสัญญาณโดยมีทิศทางนโยบายการเงินที่จะเข้มงวดขึ้นและคณะกรรมการได้เริ่มหารือถึงแผนการลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QETaper) อีกทั้งยังมีความเสี่ยงเรื่องแผนขึ้นภาษีของปธน. Biden ที่เริ่มเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในเดือนหน้า อย่างไรก็ดีตลาดโดยรวมยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ในหลายประเทศ เนื่องจากความคืบหน้าของการฉีดวัคซีน โดยล่าสุดประเทศพัฒนาแล้วฝั่งตะวันตก เช่น สหรัฐฯ และยุโรปมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนถึง 53.11% และ 38.83% ของจำนวนประชากรทั้งหมดตามลำดับ ขณะที่ประเทศภูมิภาคเอเชียไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย และไทยฉีดไปแล้ว 29.45%, 19.00%, 17.52% และ 8.37% ตามลำดับ

• ดัชนีรวม (Composite PMI) เดือน มิ.ย. ประเทศส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ขยายตัว แม้ว่าดัชนีรวมสหรัฐฯ จะปรับตัวลดลง -4.6 จุด เป็นระดับ 63.9 จุด จากภาคบริการปรับตัวลดลง แต่ยังอยู่ในแดนขยายตัว อีกทั้งอุปสงค์ของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศยังแข็งแกร่งและธุรกิจยังสามารถดำเนินตามปกติ ขณะที่ดัชนีรวมยูโรโซนปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง +2.1 จุด เป็นระดับ 59.2 จุด จากความคืบหน้าของการแจกจ่ายวัคซีนทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามดัชนีรวมญี่ปุ่นปรับตัวลดลง -1.0 จุด เป็นระดับ 47.8 จุด แม้ว่าภาคบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น +0.7 จุด เป็น 47.2 จุด แต่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน 10 จังหวัด ซึ่งรวมถึง Tokyo และ Osaka ระหว่างวันที่ 25 เม.ย. – 20 มิ.ย. เป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะนี้

• ธนาคารกลางญี่ปุ่น( BoJ) คงนโยบายการเงินตามเดิม โดยการประชุมรอบวันที่ 17-18 มิ.ย. ที่ผ่านมา ยังคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% และคงเป้าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อีกทั้งยังคงวงเงินการเข้าซื้อ ETFs และ REITs สูงสุดต่อปีที่ 12 ล้านล้านเยน และ 1.80 แสนล้านเยน ตามลำดับ พร้อมกับขยายระยะเวลาโครงการเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยและการเข้าซื้อตราสารหนี้เอกชนออกไปจนถึง มี.ค. 2565

• ปรับคำแนะนำจากคงน้ำหนักการลงทุนเป็นเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ จากมาตรการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระยะยาวจากทางรัฐบาลมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยล่าสุดมีการเห็นชอบร่างกฎหมายโดยมีงบใช้จ่ายก้อนใหม่มูลค่า 5.59 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ในขณะที่การกระจายของวัคซีนปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยล่าสุดประชากรที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม อยู่ที่ 53.11% ของประชากร ผนวกกับตัวเลข PMI ยังอยู่ในแดนขยายตัว และตลาดแรงงานยังฟื้นตัวดี

• ปรับคำแนะนำจากเพิ่มน้ำหนักการลงทุนเป็นคงน้ำหนักการลงทุนในหุ้นยุโรป แม้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวตามการแจกจ่ายวัคซีนที่เร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ตามยุโรปกำลังเผชิญความเสี่ยงในจ านวนผู้ติดเชื้อใหม่ที่เร่งตัวสูงขึ้นจากเชื้อกลายพันธุ์ Delta (สายพันธุ์จากอินเดีย) ร่วมกับการอนุญาตให้มีการเดินทางข้ามเมือง จึงมีความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อได้สูง