“หยวนต้า” ชี้เป้าหุ้น KBANK-KKP “ไทยพาณิชย์” ชู BBL เด่น

HoonSmart.com>> หุ้นแบงก์แกร่งสวนตลาดอ่อนแรงต่ำกว่า 1,600 จุด บล.หยวนต้า คงน้ำหนักกลุ่มแบงก์ “มากกว่าตลาด” เกาะกระแสเปิดเมืองครึ่งปีหลัง สินเชื่อเดือน พ.ค.โต 0.6% จากเดือนก่อน KTB-KBANK-KKP ขยายตัวดี คาดกำไรกลุ่มชะลอไตรมาส 2/64 ชี้เป้าหุ้นเด่น KBANK-KKP  ส่วนบล.ไทยพาณิชย์ เลือก BBL กําไรฟื้นตัวกลับมาเติบโตสูงที่สุดในปี 64-65 คลังเรียกแบงก์รัฐหารือด่วนช่วยลูกหนี้ คาดลดดอกเบี้ยเหลือ 0% ขยายเวลาพักชำระหนี้ถึงสิ้นปีนี้

คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะมีการประชุมวันที่ 23 มิ.ย. 2564 ตลาดฟันธงมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ท่ามกลางกระแสกดดันการลดเพดานดอกเบี้ยเงินกู้ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย แต่ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารกลับประคองตัวได้ เช่น KBANK ไล่ขึ้นไปสูงสุด 123.50 บาท ก่อนปิดที่ 121 บาท BBL ขึ้นไปสูงสุด 118.50 บาท ปิดที่ 116.50 บาท ขณะที่ดัชนีร่วงลงไปต่ำกว่า 1,600 จุดอีกครั้ง ปิดที่ 1,599.23 จุด ลดลง 1.90 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 81,592.73 ล้านบาท ถือว่าอ่อนแอกว่าตลาดในภูมิภาคหลายแห่ง รวมถึง ยุโรปและสหรัฐ รอถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หากเข้มงวดนโยบายการเงินจะกดดันตลาดในวันพรุ่งนี้ (23มิ.ย.)

บล.หยวนต้า คงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคารพาณิชย์ “มากกว่าตลาด” โดยมองเป็นกลุ่มที่เกาะกระแสเปิดเมืองเปิดประเทศได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 หนุน PPOP ดีขึ้น และการตั้งสำรองทยอยปรับลงตั้งแต่ไตรมาส 3/2564 เป็นต้นไป เลือก KBANK ราคาเป้าหมาย 180 บาท เป็น Top Pick ของกลุ่ม โดยให้น้ำหนักกับการขยายสินเชื่อที่โดดเด่นต่อเนื่องมาหลายเดือน ขณะที่ราคาหุ้นยังซื้อขายด้วย P/BV ต่ำ และ KKP ราคาเป้าหมาย 71.50 บาท มีจุดเด่นที่พอรต์สินเชื่อโตเด่นกว่าคู่แข่งและคาดรายได้ค่าธรรมเนียมฝั่งตลาดทุนเติบโตดี

บล.ไทยพาณิชย์ยังคงเลือกหุ้น BBL เป็น top pick เนื่องจากเป็นธนาคารที่กําไรฟื้นตัวกลับมาเติบโตสูงที่สุดในปี 2564-2565

” เราเชื่อว่ามูลค่าหุ้นของ BBL, KTB,KBANK และ KKP ยังไม่ได้สะท้อนการฟื้นตัวของกำไรที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้และปีหน้าอย่างเต็มที่”บล.ไทยพาณิชย์ระบุ

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้หารือร่วมกับผู้บริหารธนาคารเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่งเป็นการเร่งด่วนเมื่อวานนี้ เพื่อสั่งการให้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งประชาชนรายย่อยและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยให้เสนอแผนงานกลับมาให้กระทรวงการคลังพิจารณาภายใน 1-2 สัปดาห์

เบื้องต้นทุกธนาคารเห็นตรงกันว่า จะพักชำระหนี้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบไปจนสิ้นปี 64 จากปัจจุบันที่พักหนี้ของธนาคารแต่ละแห่งไม่เท่ากัน และมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน โดยจะจัดทำเป็นมาตรการกลางแทน และมีธนาคารของรัฐแห่งหนึ่งเสนอแผนช่วยเหลือลูกหนี้เป็นกรณีพิเศษ จากเดิมที่พักเงินต้นแต่ให้จ่ายดอกเบี้ยตามปกติหรือบางส่วน เป็นการพักชำระเงินต้นและลดดอกเบี้ยเหลือ 0% หรือ คิดแค่ 0.01% ต่อปีเท่านั้น

สำหรับการลดเพดานดอกเบี้ยเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีนั้น แบ่งเป็น 2 ส่วน โดยกระทรวงการคลังดำเนินการผ่านพิโกไฟแนนซ์และนาโนไฟแนนซ์ ก็มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำพอสมควร ขณะที่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐดอกเบี้ยที่คิดอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้วและบางมาตรการที่ออกมาช่วยเหลือลูกหนี้ก็มีอัตราดอกเบี้บต่ำกว่าสินเชื่อซอฟท์โลนด้วย

ส่วนกรณีธนาคารพาณิชย์เอกชน กระทรวงการคลังจะหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร็วๆนี้ เพื่อพิจารณาว่าสามารถทำได้หรือไม่ และทำได้มากน้อยแค่ไหน ในลูกค้ากลุ่มใดบ้าง