ปตท.กำไรแค่ 3 หมื่นล. เงินบาทอ่อนฉุด

ปตท.คุยกำไรจากการดำเนินงานดีขึ้น หากไม่รวมผลกระทบจากรายการพิเศษ คาดปีนี้ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 69-74 ดอลลาร์สหรัฐฯ ค่าการกลั่นอ้างอิงสิงคโปร์เฉลี่ยอยู่ที่ 6.2-6.6 ดอลลาร์สหรัฐ

บริษัท ปตท. (PTT)เปิดเผยผลการดำเนินงานงวดไตรมาสที่ 2/2561 มีกำไรสุทธิ 30,028 ล้านบาท ลดลง จำนวน 1,288 ล้านบาทคิดเป็น 4.11% จากระยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 31,316 ล้านบาท และลดลง 24.5% จากไตรมาส 1/2561

สาเหตุหลักมาจากผลกระทบเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เกิดการรับรู้ค่าใช้จ่ายทางภาษีของบริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนของเงินกู้สกุลต่างประเทศของปตท.และบริษัทในกลุ่ม

สำหรับผลการดำเนินงานปกติไตรมาสนี้เพิ่มขึ้น โดยหลักมาจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่ดีขึ้น จากค่าการกลั่นทางบัญชี (Accounting GRM) ปรับสูงขึ้นจากกำไรสต๊อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติก็ดีขึ้น และกลุ่มปตท.มีผลขาดทุนจากการป้องกันความเสี่ยงของตราสารอนุพันธ์เพิ่มขึ้น

ทางด้านผลงานรวมครึ่งปีนี้กำไรสุทธิ 69,816 ล้านบาท ลดลงจำนวน 7,668 ล้านบาท หรือประมาณ 9.89% จากที่มีกำไรสุทธิ 77,484 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุหลักจากในครึ่งแรกปี2560 ปตท. มีรายได้จากเงินปันผลรับกองทุนรวม Energy and Petrochemical Index Fund (EPIF)

อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานปกติโดยรวมจะยังดีอยู่ โดยมีรายได้จากการขายจำนวน 1,111,759 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 123,174 ล้านบาท หรือ 12.5% เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ แต่มีขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ 3,821 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,098 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรจากตราสารอนุพันธ์จำนวน 2,277 ล้านบาท และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ลดลง 5,546 ล้านบาท เป็น 2,276 ล้านบาท โดยหลักมาจากผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจากการแปลงค่าเงินกู้ยืมสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ ของ ปตท. TOP และ PTTGC

ส่วนแนวโน้มในไตรมาสที่ 3/2561 ปตท.คาดความต้องการใช้น้ำมันของโลกจะเพิ่มขึ้น 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวันจากไตรมาสก่อนหน้าไปอยู่ที่ระดับ 99.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมทั้งปี 2561 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวันไปอยู่ที่ระดับ 99.1 ล้านบาร์เรลต่อวันตามรายงานของ IEA

ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2561 ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 69-74 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และค่าการกลั่นอ้างอิงสิงคโปร์เฉลี่ยอยู่ที่ 6.2-6.6 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลงจากปี 2560 ตามภาพรวมตลาดน้ำมันสำเร็จรูปที่มีอุปสงค์ลดลงเมื่อราคาปรับตัวสูงขึ้น