CIMBT นำร่องให้บริการจ่ายเงินผ่าน QR Code ที่มาเลเซีย

HoonSmart.com>>CIMBT นำร่องให้คนไทยใช้ QR Code จ่ายเงินผ่าน แอป CIMB Thai Digital Banking ที่มาเลเซีย หลัง ธปท. และ ธนาคารกลางมาเลเซีย เชื่อมโยงการชำระเงินให้ลูกค้ารายย่อยทั้ง 2 ประเทศ

นายพอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ธนาคารกลางมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia: BNM) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้เชื่อมโยงระบบการชำระเงินรายย่อยแบบทันที ด้วยระบบ RPP/DuitNow ของประเทศมาเลเซีย และระบบพร้อมเพย์ ของไทย โดยมีธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เป็นผู้ให้บริการรายแรกของประเทศไทยในการการชำระเงินผ่าน QR Code และคาดว่าในระยะต่อไปจะมีธนาคาร และผู้ให้บริการรายอื่น เข้าร่วมให้บริการเพิ่มเติม

“ธนาคารกลางทั้งสองประเทศต่างเห็นความสำคัญและร่วมกันผลักดันโรดแมปการเชื่อมโยงการชำระเงินในอาเซียน (ASEAN Payment Connectivity) ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโรดแมปสำคัญนี้ และทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการชำระดุล (Settlement Bank) พัฒนาระบบการชำระเงินระหว่างประเทศไทย – มาเลเซียในครั้งนี้ ด้วยศักยภาพของโครงข่ายระบบการชำระเงินของกลุ่ม CIMB และเครือข่ายอันแข็งแกร่งในภูมิภาคนี้ และการปักธงก้าวเป็น ‘a Digital-led with ASEAN Reach’ ของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย” นายพอล วอง กล่าว

ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ลูกค้าในประเทศไทยสามารถใช้แอปพลิเคชัน CIMB THAI Digital Banking ของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ชำระค่าสินค้าและบริการ ที่ร้านค้าและร้านค้าออนไลน์ในประเทศมาเลเซีย โดยแอปได้รับการออกแบบมาให้ลูกค้าชำระเงินต่างสกุลแบบง่ายๆ เพียงสแกน QR ลูกค้าจะเห็นยอดชำระเป็นเงินสกุลริงกิต หลังจากนั้นแอปจะทำการแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินสกุลบาทให้ทันที เพื่อให้ลูกค้าทราบยอดที่ชัดเจนเป็นเงินบาทก่อนทำการชำระเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนยังถูกกว่าการใช้บัตรเครดิตอีกด้วย

ส่วนลูกค้าในประเทศมาเลเซียสามารถใช้แอปพลิเคชันบนมือถือสแกน Thai QR code เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ ที่ร้านค้าและร้านค้าออนไลน์ในประเทศไทย คาดว่าจะเริ่มให้บริการไตรมาส 4 ปี 2564

นายพอล วอง กล่าวว่า นับเป็นจังหวะที่ดีของการเตรียมพร้อม รองรับเศรษฐกิจของภูมิภาคที่จะกลับมาเปิดอีกครั้งหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้าขายชายแดนไทย-มาเลเซีย รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของทั้งสองประเทศ และเป็นก้าวสำคัญของการเชื่อมโยงการชำระเงินในอาเซียน (ASEAN Payment Connectivity) เพื่อส่งเสริมการบูรณาการทางการเงินในระดับภูมิภาคด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานบริการชำระเงินระหว่างประเทศ