HoonSmart.com>> “เอ็นฟอร์ซ ซีเคียว” เตรียมขายไอพีโอ 27.74 ล้านหุ้น เข้าซื้อขายในตลาด เอ็ม เอ ไอ ไม่เกิน 30 วันต่อจากนี้ นำเงินสร้างศูนย์ให้บริการด้านเทคนิค วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน หนุนธุรกิจแข็งแกร่งยิ่งขึ้น มีผลิตภัณฑ์ใหม่ ลูกค้าเพิ่ม รุกตลาดต่างประเทศ โชว์กำไร 8 ล้านบาท โต 488% ไตรมาส 1/64 ลูกค้าสนใจรักษาความปลอดภัยทางเทคโนโลยีไซเบอร์มากขึ้น
นายพายุพัด มหาผล กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุน ของบริษัท เอ็นฟอร์ซ ซีเคียว (SECURE) เปิดเผยว่า SECURE มีแผนจะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 27,741,000 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท หรือคิดเป็น 27% ของทุนจดทะเบียน ก่อนการใช้สิทธิใบสำคัญแสดงสิทธิ คาดว่าจะได้ข้อสรุปของกระบวนขายหุ้นภายในเดือน มิ.ย.2564 นี้ และสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ไม่เกิน 30 วันต่อจากนี้
ปัจจุบัน SECURE มีทุนเรียกชำระแล้ว 37.50 ล้านบาท หลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ ทุนชำระแล้วเพิ่มเป็น 51.37 ล้านบาท โดยมีนโยบายจ่ายปันผลไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิ
“SECURE เป็นบริษัทที่มีความน่าสนใจในการลงทุนอย่างมาก มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง ทั้งธุรกิจและงบการเงิน ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตสูง โดยการเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์รักษาความปลอดภัยทางเทคโนโลยีไซเบอร์ระดับโลก และยังพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นของตัวเองอีก เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ทั้งสองให้ออกมาสมบูรณ์มากที่สุด และตอบสนองตามความต้องการลูกค้า อีกจุดเด่นที่สำคัญคือ มีความเชี่ยวชาญอย่างสูงในด้าน Cyber security ผสานกับความเข้าใจในความต้องการของตลาด รวมถึงการมีโซลูชั่นที่มีประสิทธิภาพ” นายพายุพัด กล่าว
ด้านนายนักรบ เนียมนามธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นฟอร์ซ ซีเคียว (SECURE) เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์การใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ เพื่อใช้สร้างศูนย์ให้บริการด้านเทคนิค (Technical Support Center), การลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยทางเทคโนโลยีไซเบอร์ (Cyber Security),การลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัทฯ และเป็นเงินทุนหมุนเวียน
“การตัดสินใจระดมทุน และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของบริษัทฯ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจมีโอกาสเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากการที่องค์กรต่างๆที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนในระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูล โดยเฉพาะแผนการบังคับใช้ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่คาดว่าจะมีผลบังคับในปี 2565 หลัง IPO เราจะมีฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นได้ในอนาคต และคู่ค้ามีความไว้วางใจมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มโอกาสรับงานโครงการขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ”นายนักรบกล่าว
นอกจากนี้บริษัทมีแผนที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น โดยใช้ร่วมกันกับผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯเป็นตัวแทนจำหน่าย เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยปัจุบันมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 95-96% เป็นการขายผลิตภัณฑ์ อีก 4-5% เป็นการให้บริการซ่อมบำรุงผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าหลายกลุ่ม อาทิ ภาครัฐ สถาบันการศึกษา สาธารณสุข สถาบันการเงิน กลุ่มผู้ให้บริการ และกลุ่มองค์กรธุรกิจ โดยอนาคตบริษัทศึกษาในการขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย SMEs หรือกลุ่มบุคคลธรรมดา
ส่วนผลประกอบการในไตรมาส 1/2564 บริษัทมีรายได้รวม 282 ล้านบาท เติบโต 49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 28 ล้านบาท เติบโต 488.3% ส่วนผลงานย้อนหลังในช่วง 3 ปี (2561-2563) ที่ผ่านมา บริษัทฯ มีรายได้รวม 570 ล้านบาท 643 ล้านบาท และ 634 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิจำนวน 70 ล้านบาท 59 ล้านบาท และ 24 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งในปี 2563 บริษัทได้รับผลกระทบจากการลดงบประมาณการลงทุนด้าน Cyber security ของลูกค้า ทำให้ผลประกอบการปรับตัวลดลงบ้าง แต่ปัจจุบันกลับมาเติบโตตามปกติแล้ว โดยความสี่ยงหลักของบริษัทคือภาวะเศรษฐกิจ ถ้าลูกค้ามีการเติบโต การใช้ดิจิทัลก็เพิ่มขึ้น และสิ่งที่เพิ่มขึ้นตามมาคือการรักษาความปลอดภัยทางเทคโนโลยีไซเบอร์
นายนักรบ กล่าวทิ้งท้ายว่า บริษัทมีแผนใน 2-3 ปีนี้ (2564-2566) ตั้งเป้าหมายการขึ้นเป็นอันดับ 1 จากปัจจุบันมีคู่แข่งอยู่ประมาณ 4 ราย ซึ่งเป็นธุรกิจที่อยู่ต่างประเทศทั้งหมด โดยบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 20-25% กลยุทธ์ในอนาคตจะมุ่งเน้นการเติบโตในต่างประเทศด้วย ส่วนการเติบโตในประเทศยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เพราะภาครัฐจะผลักดันให้เป็น Thailand 4.0 หรือการใช้ดิจิทัล ในทุกภาคส่วน ทำให้การใช้ระบบป้องกันและรักษาความปลอดภัยทางเทคโนโลยีไซเบอร์มีความจำเป็นอย่างมาก ซึ่งบริษัทจะหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้การทำงานของระบบมีความสมบูรณ์แบบมากที่สุด