ASPS มองคุมดอกเบี้ยช่วยปชช.กระทบกลุ่มแบงก์จำกัด-เช่าซื้อ TIDLOR หนักสุด

HoonSmart.com>> บล.เอเซีย พลัส ประเมินกรณีนายกฯ สั่งทบทวนดอกเบี้ยช่วยประชาชน กระทบประมาณกลุ่มแบงก์จำกัด เหตุกระทบสินเชื่อบัตรเครดิตเป็นหลัก KTB มีสัดส่วนสูงสุด ยังคงน้ำหนัก “กลุ่มแบงก์” เท่าตลาด มองเป็นโอกาสสะสม ด้านกลุ่มเช่าซื้อ หากลดดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลกระทบ TIDLOR หนักสุด กรณียีลด์ลด 1% กระทบกำไรสุทธิ 18.3%

บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส (ASPS) ออกบทวิเคราะห์ประเมินกรณีนายกรัฐมนตรีให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทบทวนเพดานอัตราดอกเบี้ยและการกำกับดูแลบัตรเครดิต, สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อจำนำทะเบียน ซึ่งยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนมากนัก โดยปัจจุบันเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตอยู่ที่ 16%, สินเชื่อส่วนบุคคลที่ 25% และสินเชื่อจำนำทะเบียน 24%

ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ที่มีสัดส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตและบุคคลมากสุด นำโดย KTB ราว 24% ของพอร์ตสินเชื่อ (บัตรเครดิตและสินเชื่อในกลุ่มข้าราชการ) ตามด้วย TISCO ในส่วนของสินเชื่อจำนำทะเบียนประมาณ 15% ของพอร์สินเชื่อ และ BAY ราว 10% ของพอร์ตสินเชื่อ

ในกรณีที่เกิดขึ้นสร้างผลกระทบต่อสินเชื่อบัตรเครดิตเป็นหลัก เพราะ ธ.พ. ส่วนใหญ่เก็บในอัตราเดียวกับเพดาน แต่เนื่องจากการเก็บอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตจะคิดเฉพาะลูกค้าที่จ่ายขั้นต่ำ จึงมองผลกระทบส่วนนี้จำกัด ขณะที่กลุ่มจำนำทะเบียนฯ อย่าง TISCO ทางธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยราว 14% ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ

ภาพรวมยังมองผลต่อประมาณการกลุ่มฯ จำกัด โดยประมาณการปี 2564 – 65 ให้น้ำหนักไปที่ Credit Cost และคุณภาพสินทรัพย์เป็นหลัก อีกทั้งมองว่าโอกาสในการเกิดยังต้องติดตาม เหตุเพราะทาง ธปท. มีการกำหนดอัตราเพดานขั้นต่ำในกลุ่มสินเชื่อข้างต้น ช่วงก.ค. 63 การปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยติดต่อกัน อาจส่งผลให้ผลตอบแทนของธนาคารเมื่อเทียบกับความเสี่ยงไม่คุ้ม และนำไปสู่การที่ ธ.พ. คุมเข้มการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งไม่น่าดีต่อประชาชน

บล.เอเซีย พลัส คงน้ำหนัก เท่าตลาด เลือก BBL ราคาเหมาะสม 154 บาท , KBANK ราคาเหมาะสม 155 บาท และ TISCO ราคาเหมาะสม 102 บาท มองราคาหุ้นในกลุ่มฯ มีโอกาสได้รับ Sentiment ลบช่วงสั้น แต่มองเป็นโอกาสสะสม ให้น้ำหนักไปกับการกระจายวัคซีน COVID-19 นำไปสู่การเดินเครื่องทางเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง หนุนรายได้ลูกหนี้และลดความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ มากกว่า

ส่วนกลุ่มเช่าซื้อ ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน ทั้งนี้ ธปท.ได้มีการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลรอบก่อน เพื่อช่วยลดผลกระทบของผู้บริโภคไปแล้วตั้งแต่ 1 ส.ค. 63 ได้แก่ ปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลเหลือ 25% (เดิม 28%) เพดานอัตราสินเชื่อจำนำทะเบียนปรับลดลงเหลือ 24% (เดิม 28%) และปรับเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตลงเหลือ 16% (เดิม 18%)

ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันผู้ให้บริการสินเชื่อบุคคลส่วนใหญ่จะคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเพดานอยู่แล้ว แต่ฝ่ายวิจัยประเมินว่าหากธปท.มีการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลในอนาคต จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการกลุ่มเช่าซื้อบ้าง เนื่องจากประเมินว่าผู้ให้บริการสินเชื่อมีแนวโน้มจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่คิดกับลูกค้าลงบ้างด้วยเช่นกัน โดยฝ่ายวิจัยได้ทำ Sensitivity Analysis ว่า ทุกๆ การปรับลด Yields ลง 1% จะส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิของ TIDLOR ลง 18.3% MTC ลง 12.8% AEONTS ลง 9.2% และ SAWAD ลง 7.0%

ทั้งนี้ หากไปดูกำไรสุทธิปี 2563 ของผู้ให้บริการสินเชื่อ (MTC SAWAD และ TIDLOR) พบว่ามีการเติบโตต่อเนื่อง จากสินเชื่อสุทธิที่เติบโตต่อเนื่อง หักล้างผลกระทบจากการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลตั้งแต่ส.ค. 63 ไปได้ มีเพียง AEONTS ที่กำไรสุทธิปี 2563 อ่อนตัวลง 7.2% yoy จากผลกระทบของการระบาดของโควิด

ส่วนกลุ่มเช่าซื้อ ประเมินทุกการปรับลด Yields ลง 1% กระทบกำไรสุทธิ TIDLOR ลด 18.3% MTC ลง 12.8% AEONTS ลง 9.2% และ SAWAD ลง 7.0%