HoonSmart.com>>บล.กสิกรไทยให้แนวรับที่ 1,620 และ 1,610 จุด แนวต้านอยู่ที่ 1,650 และ 1,680 จุด รอผลประชุมเฟด 15-16 มิ.ย. สถานการณ์โควิด-การเร่งฉีดวัคซีน ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-จีน ส่วนค่าเงินบาท ธนาคารกสิกรไทยให้กรอบเคลื่อนไหวที่ 30.90-31.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ จากสัปดาห์ก่อนแข็งค่าขึ้น
บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย มองหุ้นสัปดาห์ถัดไป (14-18 มิ.ย.2564) ดัชนีหุ้นมีแนวรับที่ 1,620 และ 1,610 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,650 และ 1,680 จุด ตามลำดับ
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด (15-16 มิ.ย.) สถานการณ์โควิด 19 ตลอดจนความคืบหน้าในการกระจายวัคซีนโควิด 19 ในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้ผลิต ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านใหม่เดือนพ.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BOJ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ค. ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนพ.ค. ของจีน เช่น การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร
หุ้นไทยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,636.56 จุด เพิ่มขึ้น 1.55% ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 98,986.41 ล้านบาท ลดลง 1.91% ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 1.48% ปิดที่ 504.95 จุด
ช่วงต้นสัปดาห์หุ้นแกว่งตัวในกรอบแคบ ก่อนจะดีดตัวขึ้นในช่วงที่เหลือ ตามแรงซื้อจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติและสถาบัน ในหุ้นกลุ่มธนาคาร พลังงาน และอสังหาริมทรัพย์ โดยมีแรงหนุนจากความคาดหวังเชิงบวกต่อการเร่งฉีดวัคซีนในประเทศ รวมถึงพ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อเยียวยาโควิด 19 นอกจากนี้ การที่นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป มีส่วนช่วยหนุนหุ้นในช่วงปลายสัปดาห์ด้วยเช่นกัน
สำหรับค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (14-18 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวที่ 30.90-31.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ
เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ โดยได้รับแรงหนุนจากสถานะซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับมีปัจจัยบวกตั้งแต่ในช่วงต้นสัปดาห์จากข่าวการปูพรมเร่งฉีดวัคซีนทั่วประเทศ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ทยอยอ่อนค่าลงตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งนี้บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปี ร่วงลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 1.50% เนื่องจากตลาดประเมินว่า แม้เงินเฟ้อสหรัฐฯ จะขยับขึ้น แต่เฟด ก็อาจจะยังไม่รีบส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินในเร็วๆ นี้
ในวันศุกร์ (11 มิ.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.06 เทียบกับระดับ 31.28 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (4 มิ.ย.)