PJW แตกไลน์ธุรกิจผลิตภัณฑ์การแพทย์ Q3 หนุนรายได้ปีหน้า เป้า1,000 ลบ.ปี67

HoonSmart.com>> “ปัญจวัฒนาพลาสติก”มองหาการเติบโตใหม่ๆ ในรูปแบบ New S-Curve คาดไตรมาส 3 เริ่มแตกไลน์ธุรกิจผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เริ่มมีรายได้ปี 65 และคาดยอดขายทะยานสู่ระดับ 1,000 ล้านบาทปี 67  ส่วนปีนี้เติบโต 5-10% มั่นใจครึ่งหลังโตดีกว่าครึ่งแรก เข้าสู่ไฮซีซั่น ทุกธุรกิจดีขึ้น น้ำมันหล่อลื่น-ชิ้นส่วนยานยนต์ โรงงานจีนขาดทุนลดลง-โรงงานพ่นสีโตต่อ-ธุรกิจบรรจุภัณฑ์นมและนมเปรี้ยว  

นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก (PJW) เปิดเผยว่า บริษัทมองหาแผนการเติบโตใหม่ๆ ในรูปแบบของ New S-Curve เพื่อช่วยให้เติบโตที่ดียิ่งขึ้นในอนาคต โดยการนำเทคโนโลยี ความรู้ความชำนาญเฉพาะบุคคล เข้ามาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ ซึ่งจากที่บริษัทได้ออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่ซื้อหุ้นของบริษัทฯ ครั้งที่ 1 (PJW-W1) จำนวน 191,359,982 หน่วย เพื่อรองรับการขยายการลงทุนในอนาคต คาดว่าในไตรมาส 3/2564 จะรู้ผลความชัดเจนของการลงทุนสร้างธุรกิจผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์

“เรามีความชำนาญในด้านพลาสติกอยู่แล้ว และปัจจุบันทางการแพทย์มีการใช้พลาสติกค่อนข้างมาก บริษัทเล็งเห็นถึงการเติบโตในช่องทางนี้ โดยเริ่มแรกจะออกผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ใช้แล้วทิ้ง จากนั้นจะเริ่มการศึกษาการนำเทคโนโลยี เข้ามาต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์อื่นๆ อาทิ เข็มฉีดยา ไซริงค์ และต่อมาเป็นการทำผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ คาดว่าธุรกิจนี้จะเริ่มสร้างรายได้ตั้งแต่ปี 2565 และใน 3 ปีข้างหน้า (ปี 2567) น่าจะมียอดขายที่ระดับ 1,000 ล้านบาท”นายวิวรรธน์

ส่วนการดำเนินงานในปี 2564 คาดรายได้จะเติบโตประมาณ 5-10% จากปีก่อนอยู่ที่ 2,819.8 ล้านบาท โดยธุรกิจบรรจุภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่น และธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์เติบโตตามเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจในประเทศ

ขณะที่โรงงานในประเทศจีน คาดว่าจะมีผลขาดทุนที่ลดลงมาก และจะเริ่มมีกำไรในปี 2565 ประกอบกับโรงงานพ่นสี คาดว่าจะมียอดขายที่ดีขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการลดต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และการเสริมความแข็งแกร่งในการผลิต ผ่านโครงการ Total Productive Maintenance (TPM) ช่วยสนับสนุนผลประกอบการในปีนี้อีกด้วย

ในครึ่งปีหลังคาดว่าจะเติบโตได้ดีกว่าครึ่งปีแรก  เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการยอดขายสูง (High Season) อีกทั้งคาดว่าการกระจายวัคซีน และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว จะส่งผลดีต่อยอดขายของธุรกิจบรรจุภัณฑ์นมและนมเปรี้ยวให้ดีขึ้น เนื่องจากชาวต่างชาติชอบรับประทานนม และโรงแรมก็จะสั่งผลิตภัณฑ์มากขึ้น

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น เรายังไม่กังวลมาก ถึงแม้จะมีผลกระทบบ้างบางส่วน แต่คิดว่าสามารถควบคุมได้ และค่อนข้างมั่นใจว่าผลประกอบการยังมีการเติบโตอยู่ อีกทั้งต่างประเทศที่เป็นหนึ่งในช่องทางรายได้ของเรา ยังมีการเติบโต จะเห็นได้ว่าหลายๆประเทศที่เป็นลูกค้าของเรา เริ่มฉีดวัคซีนมากขึ้น และเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งถ้าลูกค้าเติบโต เราก็เติบโตตามด้วย” นายวิวรรธน์ กล่าว

สำหรับเงินลงทุนในปี 2564 บริษัทฯตั้งไว้ที่ 150-200 ล้านบาท เพื่อลงทุนโครงการตามแผน ,ใช้ปรับปรุงโรงงานและปรับปรุงระบบต่างๆ ,ใช้ขยายคลังสินค้าใหม่ เพื่อลดภาระค่าเช่า และใช้ลงทุนเพิ่มเครื่องจักร เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต

ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจบรรจุภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นอยู่ที่ 50% ,ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ 31% ,ธุรกิจบรรจุภัณฑ์นมและนมเปรี้ยว 13% และ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภค  6% โดยมีสัดส่วนการส่งออกต่างประเทศอยู่ที่ 12-15% และในประเทศอยู่ที่ 83-85%

ส่วนการมีรถยนต์ไฟฟ้าในหลายประเทศทั่วโลก   แต่ยังมีน้อยกว่ารถยนต์สันดาปมาก คาดว่าจะเริ่มกังวลตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป บริษัทมองว่าจะส่งผลดีที่ทำให้ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์มีการเติบโตที่ดีขึ้น ส่วนแง่ลบก็คือธุรกิจบรรจุภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่น ยอดขายอาจจะปรับตัวลดลงบ้าง