HoonSmart.com>>IPO เดินหน้าขายหุ้น “เซนต์เมด” เคาะราคาขายที่ 7.20 บาทต่อหุ้น เปิดให้นักลงทุนจองซื้อ 9-11 มิ.ย. นี้ จ่อเข้าเทรด mai 17 มิ.ย. 64 ตั้งเป้า 3 ปี (64-66) รายได้โตเฉลี่ย 15%ต่อปี “ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์” เตรียมขาย 109.30 ล้านหุ้น ” TU” นำหุ้นมาร่วมขายด้วย 19.3 ล้านหุ้น เข้า SET ใช้ขยายลงทุนในอินโดฯ-ปากีสถาน มีบล.บัวหลวงเป็นที่ปรึกษา ฑีฆาก่อสร้าง” ยื่นไฟลิ่งขาย 75 ล้านหุ้น เข้า SET ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
บริษัทเซนต์เมด (SMD) ผู้ดำเนินธุรกิจตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ชั้นนำระดับ เตรียมเปิดขายจำนวน 54 ล้านหุ้น กำหนดราคาที่ 7.20 บาทต่อหุ้น พาร์หุ้นละ 0.50 บาท เปิดให้นักลงทุนรายย่อยจองซื้อวันที่ 9-11 มิ.ย. 2564 เตรียมนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ(mai) วันที่ 17 มิ.ย.นี้ ระดมทุนเพื่อขยายศูนย์ตรวจการนอนหลับ-ให้เช่าเครื่องมือทางการแทพย์ ทำให้รายได้ปีนี้เติบโต 15%
นายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า SMD เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ถือเป็นก้าวสำคัญในการจะเพิ่มศักยภาพ และฐานะการเงิน เพื่อรองรับแผนขยายการลงทุนต่างๆ จากประสบการณ์การทำงานที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากผู้ผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ชั้นนำระดับโลกกว่า 30 ราย
นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ของ SMD อยู่ในกลุ่มตลาดที่เน้นการแข่งขันด้านคุณภาพมากกว่าการแข่งขันด้านราคา และการเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ ที่เป็นฐานรายได้หลักที่อยู่ในกลุ่มสินค้าในห้องฉุกเฉินและหอผู้ป่วย ICU และเครื่องช่วยหายใจ รวมถึงสำหรับผู้ป่วยหยุดหายใจขณะนอนหลับ ทำให้เป็นข้อได้เปรียบ ส่งผลให้ผลการดำเนินงานสามารถเติบโตได้อย่างสม่ำเสมอและโดดเด่นกว่าในอุตสาหกรรมเดียวกัน
ดร.วิโรจน์ วสุศุทธิกุลกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซนต์เมด กล่าวว่า การเข้าระดมทุนในครั้งนี้ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันรองรับโอกาสทางธุรกิจในอนาคต เพิ่มฐานทุน และสนับสนุนความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงิน โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E ) หลัง IPO ลดลงมาต่ำกว่า 0.5 เท่า จากปี 2563 อยู่ที่ 1.87 เท่า ทำให้ SMD สามารถจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอตามนโยบายที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 30% ของกำไรสุทธิในแต่ละปี เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่นักลงทุน
ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปี (2564-2566) ตั้งเป้ารายได้เติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี หลังเดินหน้าลงทุนขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขยายเตียงสำหรับตรวจการนอนหลับโดยตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนเตียงตรวจเฉลี่ยปีละ 8 เตียงตรวจ ซึ่งคาดว่าภายในปี 2566 จะมี 28 เตียงตรวจ จากปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 4 เตียงตรวจ นอกจากนี้ ยังจะเพิ่มเครื่องมือแพทย์ใหม่ๆ เข้ามาจำหน่ายเพื่อรองรับความต้องการลูกค้าทั้งโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน และการลงทุนให้เช่าเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้ SMD มีแนวโน้มที่จะเติบโตในระยะยาว สอดคล้องกับภาวะอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมผู้สูงอายุ และนโยบายผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)
สำหรับผลงานในไตรมาส 1/2564 บริษัทฯ มีรายได้มีจากการขายและบริการรวม 155.4 ล้านบาท เติบโต 38.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 112.3 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 8.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 464.54% พลิกจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 2.2 ล้านบาท หลังสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้กำไรสุทธิเติบได้อย่างโดดเด่น
ด้านบริษัทไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ ยื่นไฟลิ่ง เพื่อเสนอขายหุ้น จำนวน 109.3 ล้านหุ้น แบ่งเป็นหุ้นเพิ่มทุน 90 ล้านหุ้น และหุ้นเดิมของบริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) จำนวน19.3 ล้านหุ้น และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) โดยมี บล.บัวหลวง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน หลังขายหุ้น TU ลดสัดส่วนการถือหุ้นจาก 66.9% เหลือ 51%
บริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เศรษฐกิจ โดยมีผลิตภัณฑ์หลัก ซึ่งได้แก่ อาหารกุ้ง อาหารปลา และอาหารสัตว์บก
วัตถุประสงค์การระดมทุนครั้งนี้ เพื่อการขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศอินโดนีเซียและปากีสถาน ชำระคืนเงินกู้ยืม และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
บริษัทมีความเชี่ยวชาญประสบการณ์กว่า 20 ปี ปัจจุบันมีโรงงานผลิตสินค้า 2 แห่ง คือ โรงงานมหาชัย ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ และ โรงงานระโนด ในจังหวัดสงขลา กำลังการผลิตอาหารสัตว์รวมเท่ากับ 288,000 ตันต่อปี แบ่งเป็น อาหารกุ้ง 168,000 ตันต่อปี อาหารปลา 90,000 ตันต่อปี และ อาหารสัตว์บก 30,000 ตันต่อปี อัตราการใช้กำลังการผลิต (Utilization Rate) อยู่ในระดับประมาณ 58-80%
บริษัทมีแผนขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศอินโดนีเซีย โดยเข้าทำความร่วมมือทางการค้ากับพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partner) 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม PT MSK ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจแปรรูปอาหารแช่แข็งรายใหญ่ และกลุ่ม AVANTI ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำ เพื่อลงทุนและจัดตั้ง TUKL ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศอินโดนีเซียดังกล่าว โดยบริษัทฯ PT MSK และกลุ่ม AVANTI (ถือหุ้นผ่าน AVANTI และ Srinivasa) มีสัดส่วนการถือหุ้นใน TUKL เท่ากับ 65%, 25% และ 10% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ TUKL ตามลำดับ ส่งผลให้ TUKL ถือเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ
ในช่วงแรก TUKL จะมุ่งเน้นในการผลิตและจำหน่ายอาหารกุ้งเป็นหลัก คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนในช่วงแรก กำลังการผลิตประมาณ 36,000 ตัน รวมประมาณ 275,333 ล้านรูเปีย หรือประมาณ 596.9 ล้านบาท ปัจจุบัน TUKL ได้มีการจัดซื้อที่ดินตั้งโรงงานแล้วและอยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าจะสามารถติดตั้งเครื่องจักรและเริ่มดำเนินการทดสอบระบบ (Test Run) ได้ภายในเดือน ต.ค.64 และสามารถเริ่มการผลิตและจำหน่ายอาหารกุ้งได้ภายในปี 64 โดยในระหว่างการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักร TUKL บริษัทฯ ได้มีการทดลองตลาดโดยการนำเข้าอาหารกุ้งที่ผลิตโดยโรงงานของบริษัทฯ ในประเทศไทยเพื่อไปทดสอบผลการเลี้ยงกุ้งในประเทศอินโดนีเซียเป็นการล่วงหน้าตั้งแต่ในเดือนมี.ค.64
บริษัทจะขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศปากีสถาน โดยได้เข้าทำความร่วมมือทางการค้ากับStrategic Partner คือ กลุ่ม AMG ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจอาหารสัตว์น้ำในประเทศปากีสถาน เพื่อลงทุนและจัดตั้ง AMG-TFM สัดส่วนการถือหุ้นเท่ากับ 51% และ 49% ช่วงแรกจะมุ่งเน้นในการผลิตและจำหน่ายอาหารปลาเป็นหลัก คาดว่า AMG-TFM จะต้องใช้เงินลงทุนในช่วงแรกสำหรับผลิตและจำหน่ายอาหารปลา กำลังการผลิตประมาณ 7,000 ตัน รวมประมาณ 340.0 ล้านรูปีปากีสถาน หรือประมาณ 69.6 ล้านบาท เป็นส่วนเงินลงทุนของบริษัทประมาณ 35.5 ล้านบาท โดยหลักจะเป็นเงินลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์และเป็นเงินทุนหมุนเวียน เนื่องจาก AMG-TFM มีแผนในการเช่าที่ดินและโรงงานจากบุคคลภายนอก
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีย้อนหลัง (ปี 2561-2563) และงวดสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.2564 มีรายได้รวมเติบโตขึ้นเป็น 4,492.7 ล้านบาทในปี 61 และ 4,906.8 ล้านบาทในปี 62 อย่างไรก็ดีในปี 63 เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ส่งผลทำให้บริษัทมีรายได้รวม 4,244.5 ล้านบาทลดลงจากปีก่อนหน้า และงวดสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.64 มีรายได้รวมอยู่ที่ 970.5 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่มีกำไรเบ็ดเสร็จรวม เท่ากับ 402.5 ล้านบาท 835.4 ล้านบาท และ 399.7 ล้านบาท ตามลำดับ และในงวดไตรมาสแรกปีนี้ บริษัทมีกำไรเบ็ดเสร็จรวม 60.0 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง รวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ 50.0 ของกำไรสุทธิตามงบการเงินรวม หลังหักทุนสำรองต่าง ๆ ทุกประเภทตามข้อบังคับของบริษัทย่อย และตามกฎหมายแล้ว
บริษัท ฑีฆาก่อสร้าง ยื่นไฟลิ่ง เพื่อเสนอขายหุ้น จำนวน 75 ล้านหุ้น และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) โดยมี บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
ฑีฆาก่อสร้าง ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆ โดยเป็นผู้รับเหมาหลักของโครงการ ซึ่งครอบคลุมงานตั้งแต่งานโครงสร้าง (Structure) งานสถาปัตยกรรม และงานระบบประกอบอาคารมีวัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหลักทรัพย์ในครั้งนี้ไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ