HoonSmart.com>> “บ้านปู” ส่งบริษัทย่อยเข้าซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในประเทศออสเตรเลีย 2 แห่ง “Beryl (BSF) และ Manildra (MSF)” กำลังผลิตรวม 166.8 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุน 2,332 ล้านบาท หนุนเพิ่มกำลังผลิตตามเป้าหมาย 6,100 เมกะวัตต์ ภายในปี 68
บริษัท บ้านปู (BANPU) แจ้งว่า Banpu Energy Australia Pty Ltd (BEN) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ ถือหุ้นในอัตรา 100% และ Banpu Renewable Australia Pty Ltd (BREA) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จํากัด (Banpu NEXT) ถือหุ้นในอัตรา 100% ได้จัดตั้งหน่วยลงทุน Banpu Energy Hold Trust โดย BEN ถือหุ้น 80% และ BREA ถือหุ้น 20% เพื่อเข้าซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในประเทศออสเตรเลีย 2 แห่ง ได้แก่ Beryl (BSF) และ Manildra (MSF) ในสัดส่วน 100% ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์หุ้นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าวกับบริษัท New Energy Solar Limited (NEW) เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2564 เรียบร้อยแล้ว โดยมีมูลค่าการลงทุน 97.5 ล้านออสเตรเลียดอลล่าร์ หรือเทียบเท่า 2,332 ล้านบาท
โรงไฟฟ้า 2 แห่งมีกําลังการผลิตรวม 166.8 เมกะวัตต์ (MWdc) ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ BSF กําลังการผลิต 110.9 เมกะวัตต์ (MWdc) เปิดดําเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนมิ.ย.2562 และ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ MSF กําลังการผลิต 55.9 เมกะวัตต์ (MWdc) เปิดดําเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนธ.ค.2561
โรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งตั้งอยู่ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ (New South Wales) ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีปริมาณความต้องการและการเติบโตของการใช้ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง กอปรกับทางภาครัฐได้มีนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งของประเทศ หรือ National Electricity Market (NEM) ตามสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ระยะยาว โดยผู้รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งมีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในกลุ่มน่าลงทุน (investment grade) ซึ่งสะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่มีกระแสเงินสดที่มั่นคงในระยะยาว
การลงทุนในครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวสําคัญในการดําเนินตามแผนกลยุทธ์ Greener & Smarter เพื่อสร้างรากฐานการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศออสเตรเลียและยังเป็นการก้าวสู่ตลาดซื้อขายไฟฟ้าที่มีความก้าวหน้าและเป็นตลาดขายส่ง (wholesale electricity market) ที่เปิดเสรีอีกด้วย
นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู (BANPU) กล่าวว่า บ้านปูยังคงเดินหน้าลงทุนในธุรกิจพลังงานที่หลากหลายและครอบคลุมทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ สอดคล้องกับกลยุทธ์ Greener & Smarter สำหรับการลงทุนครั้งนี้สอดคล้องกับกลยุทธ์ที่เน้นโครงการที่สร้างกระแสเงินสดได้ทันที ทั้งยังเป็นอีกก้าวสำคัญของธุรกิจบ้านปูในการขยายพอร์ตพลังงานสะอาดและต่อยอดระบบนิเวศของธุรกิจบ้านปูในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีความแข็งแกร่งในธุรกิจต้นน้ำมาอย่างยาวนาน ด้วยความเชี่ยวชาญและความพร้อมในด้านทรัพยากรบุคคล ความสัมพันธ์ที่ดีกับภาครัฐและเครือข่ายธุรกิจกับคู่ค้าและพันธมิตรที่ดีเยี่ยมอีกด้วย
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 2 แห่งใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยจากผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ระดับ Tier-1 รวมถึงมีระบบหมุนตามแสงอาทิตย์ (Single Axis Tracking System) ส่งผลให้มีอัตราความสามารถในการผลิตเฉลี่ย (Capacity Factor) ในระดับที่ดี รวมทั้งตั้งอยู่ในบริเวณที่มีค่าการสูญเสียไฟฟ้า (Marginal Loss Factor หรือ MLF) ในระดับที่คงที่ เนื่องจากมีความพร้อมในระบบสาธารณูปโภค ซึ่งส่งผลให้บริษัทฯ มีเสถียรภาพในการรับรู้รายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
นอกจากนี้รัฐนิวเซาท์เวลส์ (New South Wales) ยังมีปริมาณความต้องการและการเติบโตของการใช้ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งของประเทศ ผ่านตลาดซื้อขายไฟฟ้าแห่งชาติ (National Electricity Market หรือ NEM) ตามสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ระยะยาว โดยผู้รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการทั้ง 2 แห่งมีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในกลุ่มน่าลงทุน (Investment Grade) ส่งผลถึงกระแสเงินสดที่บริษัทฯ จะได้รับอย่างมั่นคงในระยะยาว นอกจากนี้รัฐนิวเซาท์เวลส์ มีนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ โดยในปี 2563 มีสัดส่วนอยู่ที่ 14% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในตลาดซื้อขายไฟฟ้าแห่งชาติ (NEM) และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต
“การลงทุนในครั้งนี้จึงนับเป็นอีกก้าวสำคัญในการวางรากฐานการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดในประเทศออสเตรเลีย และยังเป็นการก้าวสู่ตลาดซื้อขายไฟฟ้าที่มีความก้าวหน้าและเป็นตลาดขายส่ง (Wholesale Electricity Market) ที่เปิดเสรีอีกด้วย เราพร้อมขยายพอร์ตการลงทุนที่ตอบโจทย์กลยุทธ์ Greener & Smarter ในประเทศออสเตรเลียอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเข้าลงทุนผ่านการซื้อกิจการที่สามารถรับรู้รายได้ได้ทันที การพัฒนาโครงการพลังงานสะอาด (Decarbonization) บนพื้นที่บริเวณเหมืองถ่านหินใต้ดิน ซึ่งบ้านปูได้เข้าไปลงทุนตั้งแต่ปี 2552 หรือต่อยอดสู่ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานในอนาคต อันถือเป็นการเชื่อมโยงต่อยอดระบบนิเวศทางธุรกิจภายในกลุ่มบ้านปูที่แข็งแกร่งอีกด้วย” นางสมฤดีกล่าว
ทั้งนี้บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าในการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายกําลังการผลิต 6,100 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 โดยมองหาโอกาสการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในตลาดที่มีความเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าและมีนโยบายสนับสนุนจากรัฐบาล
ด้านบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) แจ้งว่า BEN ซึ่งเป็นบริษัทย่อย 100% ของบริษัท BANPU และ BanpuRenewable Australia Pty Ltd (BREA) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ Banpu NEXT ที่บริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 50% ได้จัดตั้งหน่วยลงทุน Banpu Energy Hold Trust โดย BEN ถือหุ้น 80% และBREA ถือหุ้น 20% เพื่อเข้าซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าว