EP ส่งลูกซื้อหุ้น SSUT เพิ่ม 40% เงินลงทุน 2.1 พันล. บุ๊กรายได้ขายไฟทันที

HoonSmart.com>> บอร์ดอีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป ไฟเขียวส่งบริษัทย่อย E-COGEN ซื้อหุ้น SSUT ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมและไอน้ำ จากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม สัดส่วน 40% ใช้เงินลงทุนกว่า 2.10 พันล้านบาท ดันสัดส่วนถือหุ้น 80.96% ด้าน “ยุทธ ชินสุภัคกุล” ชี้ทำให้มีอำนาจควบคุมโรงไฟฟ้าระบบพลังงานความร้อนร่วม พร้อมรับรู้รายได้ทันทีจากการขายไฟฟ้าและไอน้ำเพิ่มขึ้น หนุนบริษัทฯ กำไรมั่นคงและต่อเนื่องในอนาคต

นายยุทธ ชินสุภัคกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป (EP) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2564 มีมติอนุมัติให้บริษัท อีสเทอร์น โคเจนเนอเรชั่น จำกัด (E-COGEN) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เข้าซื้อหุ้นสามัญบริษัท เอสเอสยูที จำกัด (SSUT) ซึ่งเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็ก ระบบพลังงานความร้อนร่วม (Cogeneration) เพิ่มจากผู้ขาย 2 ราย จำนวนทั้งสิ้น 11,676,000 หุ้น หรือคิดเป็น 40% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่ชำระแล้ว รวมมูลค่าทั้งสิ้น 2,107,793,760 บาท เป็นการซื้อหุ้นสามัญของ SSUT จากบริษัท คอมลิงค์ จำกัด สัดส่วน 15% และบริษัท อีเทอเนิล เอนเนอยี่ (EE) สัดส่วน 25%

ภายหลังการเข้าทำรายการ บริษัทฯ จะมีสัดส่วนการถือหุ้นโดยตรงและโดยอ้อมผ่าน E-COGEN ใน PPTC จำนวนทั้งสิ้น 50.70% และ SSUT จำนวนทั้งสิ้น 80.96%

“ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดกับบริษัทฯ เพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน SSUT ซึ่งเดิมบริษัทฯ ถือหุ้นอยู่แล้วบางส่วน ทำให้มีอำนาจควบคุมในการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าระบบพลังงานความร้อนร่วม (Cogeneration) โดยบริษัทฯ จะมีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อส่งเสริมให้บริษัทฯ มีกำไรมั่นคงและต่อเนื่องในอนาคต รวมทั้ง EP จะสามารถรับรู้ผลการดำเนินงานในงบการเงินรวมได้จากการถือหุ้นเพิ่มขึ้นเกินกว่า 50% และมีอำนาจควบคุมอีกด้วย” นายยุทธ กล่าว

ทั้งนี้ SSUT เป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producer : SPP) ระบบพลังงานความร้อนร่วม(Cogeneration) กำลังการผลิตสูงสุดรวมประมาณ 240 MW (มี 2 หน่วยการผลิตกำลังการผลิตหน่วยละ120 MW) และไอน้ำกำลังการผลิตสูงสุดประมาณ 60 ตันต่อชั่วโมง ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ

ส่วน PPTC เป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producer : SPP) ระบบพลังงานความร้อนร่วม (Cogeneration) กำลังการผลิตสูงสุดรวมประมาณ 120 MW และไอน้ำกำลังการผลิตสูงสุดรวมประมาณ 30 ตันต่อชั่วโมง ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร