HoonSmart.com>>SCB EIC ลดประมาณการจีดีพีไทยปีนี้เหลือโต 1.9% มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4 แสนคน ผลจากการระบาดที่ยาวนานกว่าคาด ส่วนส่งออกปรับเพิ่มเป็น 15% คาดกนง.คงดอกเบี้ย 0.5% ตลอดทั้งปี หนุนรัฐบาลออกพ.ร.ก. 5 แสนล้านบาท กระตุ้นกำลังซื้อ ประเมินปี 2566 เศรษฐกิจไทยจึงจะฟื้นเท่าเกิดวิกฤต
ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Centerธนาคารไทยพาณิชย์ SCB EIC ระบุว่า EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เล็กน้อยเป็น 1.9% จากเดิมคาดที่ 2.0% ตามการปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยว และผลกระทบการระบาดในประเทศที่นานกว่าที่เคยคาด โดยคาดว่าระยะเวลาในการควบคุมการระบาดจะยาวนานขึ้นเป็น 4 เดือน ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อการบริโภคภาคเอกชนราว 3.1 แสนล้านบาท
ส่วนมูลค่าส่งออกของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่งตามการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจและการค้าโลก จากมูลค่าการส่งออกที่หักทองคำในช่วง 4 เดือนแรกขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่ 12.8%YOY และกระจายตัวไปในกลุ่มสินค้าหลักเกือบทุกประเภท ดังนั้น EIC จึงปรับประมาณการมูลค่าการส่งออกขยายตัวที่ 15.0% จากเดิมที่ 8.6%
ขณะที่ภาคท่องเที่ยว EIC ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2564 เหลือ 4 แสนคน จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 1.5 ล้านคน แม้ไทยจะมีแผนการผ่อนคลายนโยบายเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยว เช่น Phuket sandbox แต่หลายประเทศทั่วโลกยังมีนโยบายการเปิดประเทศให้คนเดินทางเข้าออกที่ค่อนข้างระมัดระวัง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการระบาด
ด้านนโยบายการเงิน คาดว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปี 2564 แต่จะเน้นมาตรการปรับโครงสร้างหนี้และการกระจายสินเชื่อให้ทั่วถึงมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการส่งผ่านนโยบายการเงินเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การยืดระยะเวลาของมาตรการเดิมที่ใช้อยู่ ซึ่งกำลังจะหมดอายุลงออกไปก็มีความจำเป็นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการปรับลดค่าธรรมเนียมของกองทุนฟื้นฟู (FIDF) จากฐานเงินฝาก และมาตรการผ่อนคลายการจัดชั้นคุณภาพสินเชื่อให้กับสถาบันการเงิน
ซึ่งจะช่วยให้สถาบันการเงินสามารถให้การช่วยเหลือแก่ลูกค้าทั้งด้านต้นทุนทางการเงินและการปรับโครงสร้างหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งต้องติดตามประสิทธิผลของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและมาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” อย่างใกล้ชิดเพื่อปรับปรุงเงื่อนไขของมาตรการให้เอื้อต่อการเข้าถึงสินเชื่อของ SME ได้อย่างทั่วถึงและทันการณ์
สำหรับค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2564 EIC คาดว่ามีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากสิ้นปีก่อนมาอยู่ในช่วง 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยนับจากช่วงต้นปีนี้ เงินบาทได้อ่อนค่าลง 4.2% เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการอ่อนค่าที่มากกว่าค่าเงินสกุลส่วนใหญ่ในภูมิภาค ตามแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงจากการระบาดระลอกใหม่และดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดต่ำลง
EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยในอีก 2-3 ปีข้างหน้ายังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า โดยเศรษฐกิจจะต้องรอถึงช่วงต้นปี 2566 จึงจะกลับไปเท่ากับระดับ GDP ก่อนเกิด COVID-19 และมีแนวโน้มที่จะเกิด Permanent Output Loss ขนาดใหญ่ ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการที่เศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคท่องเที่ยวในระดับสูง
EIC เห็นว่าการออก พรก. 5 แสนล้านบาทเพิ่มเติมของภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินบางส่วนราว 1 แสนล้านเข้าช่วยพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปีนี้ เป็นนโยบายที่มีความเหมาะสมเชิงหลักการ แต่ในทางปฏิบัติควรพิจารณาใช้เงินอย่างคุ้มค่าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและลดผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยเฉพาะการเร่งจัดหาและฉีดวัคซีน การช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจ SME ที่ได้รับผลกระทบหนัก และการสนับสนุนการจ้างงาน ควบคู่กับการออกมาตรการเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสำหรับการฟื้นตัวในระยะปานกลางและยาว อาทิ การปรับทักษะของแรงงาน (Up/Re-skill) ให้ทันต่อยุคสมัย