ต่างชาติปรับพอร์ตแค่ 2.5 พันล. สถาบันซื้อ 5 พันลบ. ดันหุ้นเฉียด 1%

HoonSmart.com>> หุ้นไทยสอบผ่านฉลุย วัน MSCI รีบาลานซ์ วอลุ่มพุ่งแรง 175,296 ล้านบาท ดัชนีทะยานกว่า 14.38 จุด สถาบันไทยสบโอกาสซื้อกลับ หลังขายออกไปก่อนหน้านี้ เลิกตกใจเงินเฟ้อสหรัฐ ส่วนพอร์ตบล.ผสมโรงช้อน 1 พันล้านบาท แรงหนุนหุ้นบิ๊กแคปมีปัจจัยบวกเฉพาะตัว หุ้นท่องเที่ยวโดดเด่น MINT-BTS  ส่วน KBANK ถูกถอดออก เจอขายปิด 121.50 บาท ด้านบจ. SET โชว์ผลงานไตรมาส 1/64 กำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 120% ได้ราคาน้ำมันหนุน รับมือโควิด-19 ดีขึ้น บจ. mai กำไรสุทธิ 2,514 ล้านบาท โต 601%  มีรายการพิเศษของบางบริษัท

ตลาดหุ้นไทยพลิกล็อก วันที่ 27 พ.ค.2564 ตรงกับวันที่นักลงทุนต่างชาติจะต้องปรับพอร์ตตาม MSCI ที่ลดน้ำหนักหุ้นไทยลง -0.1% สู่ 1.73% คิดเป็นเม็ดเงินราว -341 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท แต่ดัชนีหุ้นกลับบวกโดดเด่นตลอดทั้งวัน จนกระทั่งปิดที่ระดับ 1,582.96 จุด เพิ่มขึ้น 14.38 จุด หรือ +0.92% ท่ามกลางมูลค่าการซื้อขายหนาแน่นผิดปกติ 175,296.31 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิเพียง 2,542 ล้านบาทสวนทางกับสถาบันไทยซื้อมาก 4,988.93 ล้านบาทและบัญชีบล.ซื้อสุทธิ 1,084 ล้านบาท

ด้านบล.เกียรตินาคินภัทร เป็นโบรกเกอร์ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 12.44 % ตามด้วยบล.บัวหลวง 12.17% บล.CGS-CIMB 9.58% บล.เจพีมอร์แกน 6.47% และบล.ยูบีเอส 5.45%

ส่วนหุ้นที่ได้รับเลือกเข้าใหม่ใน MSCI  บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) ราคากลับลดลง 1.25 บาทหรือ 2.20% ปิดที่ 55.50 บาท ด้วยมูลค่ามากกว่า 8,327 ล้านบาท และบริษัทคาราบาวกรุ๊ป(CBG) ปิดที่ 128 บาท +0.50 บาท ส่วนหุ้นที่ถูกออก คาดธนาคารกสิกรไทย (KBANK-F) จะถูกขายออกประมาณ 210 ล้านเหรียญหรือประมาณ 6,510 ล้านบาท ราคาถูกกดลงในช่วงปิดตลาด จากที่เคลื่อนไหวบริเวณ 124 บาทปิด 121.50 บาท -2.50 บาทหรือ 2.02% ด้วยมูลค่าการซื้อขายมากถึง 21,328 ล้านบาท วอลุ่มกระโดดแซงหน้า KTC ที่มีการซื้อขายบิ๊กล็อตกว่า 8 พันล้านบาท

ขณะเดียวกันมีกระแสข่าวการกระจายวัคซีนดีขึ้น ส่งผลให้หุ้นที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างรุนแรง ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม กลับมาเป็นที่สนใจของนักลงทุน เช่น MINT ปิดกระโดดที่ 32 บาท + 1 บาทหรือ 3.23% และ BTS ปิดที่ 9 บาท +0.35 บาท หรือ 4.05%

น.ส.จิตรา อมรธรรม รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นได้จากแรงซื้อหุ้นขนาดใหญ่ที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว เช่น CPALL  จากการต่อสัญญาร้านเซเว่นในปั๊ม OR อีก 10 ปี , CBG ที่ราคาลดลงมามากมีแรงซื้อกลับ  และ AOT เก็งกำไรรับเปิดเศรษฐกิจและจากการปรับแผนจองวัคซีนในกรุงเทพ อาจทำให้ประชาชนฉีดได้เร็วขึ้น ผลดีต่อเศรษฐกิจ

ส่วนการรีบาลานซ์ MSCI ที่มีผลราคาปิดวันนี้มองว่าตลาดรับรู้ไปหมด  สถาบันในประเทศซื้อหุ้นเข้าพอร์ต เนื่องจากที่ผ่านมาขายออกไประดับหนึ่ง ประกอบกับมองว่า SELL IN MAY เกิดขึ้นไปแล้ว แนวโน้มวันพรุ่งนี้คาดดัชนีมีโอกาสซิกแซกขึ้นทดสอบแนวต้าน 1,585 จุด ส่วนแนวรับ 1,575 จุด

ด้านผู้จัดการกองทุนรายหนึ่ง กล่าวว่า กองทุนมีการปรับพอร์ตไปก่อนหน้านี้จากความกังวลเงินเฟ้อ บอนด์ยิลด์สหรัฐปรับเพิ่มขึ้น แต่เมื่อภาพเปลี่ยนความกังวลเงินเฟ้อลดลงและบอนด์ยิลด์ลง สภาพคล่องที่ถืออยู่ จึงกลับเข้ามาซื้อหุ้นที่ราคาปรับตัวลดลง หรือมีแนวโน้มที่ดี โดยวันนี้ตลาดหุ้นกลุ่ม TIP ปรับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

สำหรับภาพรวมผลงานของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1/2564 นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET)  เปิดเผยว่า บจ.ใน SET มียอดขายรวม 2,937,757 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.95% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรจากการดำเนินงานหลัก 394,449 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 119.92% และกำไรสุทธิ 257,266 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 229.81%

กำไรที่เติบโตมากนำโดยหมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค โดยเฉพาะธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน และหมวดธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ มีรายได้กำไรจากการดำเนินงานและกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ได้อานิสงค์จากการที่กลุ่มประเทศโอเปกลดกำลังการผลิต ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันและค่าการกลั่นน้ำมันปรับสูงขึ้น และกลุ่ม บจ. อื่นๆ แม้ยอดขายทรงตัวจากโควิดแต่มีการปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์ได้ดี โดยเฉพาะการบริหารต้นทุนการผลิตและการจัดการ ทำให้ทั้งกำไรจากการดำเนินงานและกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น

สำหรับฐานะการเงินของกิจการ ณ สิ้นเดือนมี.ค.2564 บจ. ไทยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) อยู่ระดับคงที่ที่ 1.53 เท่า

นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่าบจ.ใน mai มียอดขายรวม 45,050 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.1% ต้นทุนรวม 34,858 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7% โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มจาก 22.3% เป็น 22.6% และจากการบริหารต้นทุนขายและบริหาร ทำให้มีกำไรจากการดำเนินงาน 3,134 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.8% ส่งผลให้มีกำไรสุทธิรวม 2,514 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 601.3% ซึ่งมีผลจากรายการพิเศษของบางบริษัท

ส่วนของฐานะทางการเงิน ณ สิ้นไตรมาสแรก ปี 2564  โครงสร้างเงินทุนรวมยังแข็งแรง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 1.08 เท่า ขณะที่สิ้นปี 2563 อยู่ที่ระดับ 1.11 เท่า

ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2563 พบว่าไตรมาสนี้ บจ. มียอดขายลดลง 0.4% กำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 45.6% และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 97.9%

“ บจ. mai เพิ่มขึ้นทั้งยอดขายและกำไร แม้ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เพราะมีการบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมีกำไรสุทธิเติบโตขึ้น” นายประพันธ์กล่าว
 
 
อ่านข่าว

ตลท. เปิดกำไรบจ.Q1/64 กว่า 2.57 แสนลบ. เติบโต 229%

บจ. mai กำไร Q1 เติบโตทุกอุตฯ บริหารต้นทุนคุมค่าใช้จ่ายได้ดี