HoonSmart.com>>EIC SCB ปรับเพิ่มคาดการณ์มูลค่าส่งออกทั้งปี 2021 เป็นขยายตัว 13-15% จากเดิมคาด 8.6% ผลจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ส่งผล 4 เดือนแรกส่งออกโต 12.8%
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับเพิ่มคาดการณ์มูลค่าส่งออกปี 2021 เป็นขยายตัวในช่วง 13-15% จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 8.6% โดยมีสาเหตุหลัก ดังนี้
1.ตัวเลขจริงของการส่งออกที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่จะฟื้นตัวดีในช่วงครึ่งหลังของปี โดยตัวเลขการส่งออกไทยหักทองในช่วง 4 เดือนแรกขยายตัวถึง 12.8%YOY นับเป็นการฟื้นตัวที่ดีกว่าที่เคยคาดไว้พอสมควร ขณะที่ในระยะต่อไป การส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจโลก นำโดยเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว (Advanced countries) เนื่องจากมีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนเร็วกว่า ประกอบกับความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีมากกว่า จึงทำให้เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศดังกล่าวมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักทำให้การส่งออกไทยสามารถขยายตัวได้ โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ที่มีปัจจัยฐานต่ำปีก่อนมาสนับสนุนเพิ่มเติม
2.ราคาสินค้าส่งออกที่เร่งตัวขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity prices) หลายประเภท เช่น สินค้าเกษตร (เช่น น้ำตาล, ยางพารา, น้ำมันปาล์ม และเนื้อไก่) น้ำมันสำเร็จรูป, เคมีภัณฑ์ และเหล็ก เป็นต้น ซึ่งมีส่วนสนับสนุนมูลค่าการส่งออกให้ขยายตัวได้ดีเพิ่มเติมจากปริมาณส่งออกที่เพิ่มขึ้น
3.ปัจจัยเชิงเทคนิคเกี่ยวกับการวัดมูลค่าการส่งออก โดยตัวเลขคาดการณ์ของ EIC ที่ 13-15% เป็นการคาดการณ์มูลค่าส่งออกตามระบบดุลการชำระเงิน (BOP Basis) ซึ่งจะเป็นตัวเลขที่ถูกใช้ในการวัด GDP ขณะที่ตัวเลขที่มีการรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นตัวเลขตามระบบกรมศุลกากร (Custom basis) ซึ่งโดยปกติตัวเลขทั้งสองจะมีอัตราเติบโตที่ใกล้เคียงกัน
อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2021 ที่ผ่านมา อัตราเติบโตของมูลค่าส่งออกแบบ BOP basis ขยายตัวถึง 5.3%YOY ซึ่งมากกว่าแบบ Custom basis ที่ขยายตัวเพียง 2.3%YOY เนื่องจากฐานของ BOP basis ต่ำกว่าในช่วงปีก่อนที่มีการส่งคืนเครื่องบินเช่าของภาคเอกชน โดย ณ ตอนนั้น การส่งออกแบบ Custom basis ได้นับการส่งคืนเครื่องบินเช่า ขณะที่ BOP basis ไม่ได้นับเพราะไม่ได้มีการเปลี่ยนความเป็นเจ้าของ (ownership)[1] ดังนั้น จากปัจจัยเชิงเทคนิคดังกล่าว จึงเป็นอีกปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้มูลค่าการส่งออกที่ EIC คาดการณ์มีอัตราการขยายตัวที่เร่งขึ้น
ทั้งนี้ยังมีประเด็นที่เป็นความเสี่ยงด้านต่ำต่อการส่งออกไทยในระยะข้างหน้า ได้แก่
1.ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และอัตราค่าระวางเรือที่ยังสูงต่อเนื่อง
2.การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ทั่วโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าส่งออกที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน
3.การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19