HoonSmart.com>>PJW เร่งศึกษาแตกไลน์ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ รองรับความต้องการล้น “วิวรรธน์ เหมมณฑารพ” ซีอีโอ มั่นใจผลงานปีนี้โตโดดเด่น
นาย วิวรรธน์ เหมมณฑารพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก (PJW) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาแตกไลน์พลาสติกซึ่งใช้เป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เนื่องจากบริษัท ฯ มีองค์ความรู้ด้านพลาสติกอยู่แล้ว ทั้งพลาสติกบรรจุภัณฑ์สำหรับน้ำมัน, พลาสติกสำหรับอาหาร
ประธานกรรมการบริหาร กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่บริษัท ฯ ให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เนื่องจาก ปัจจุบันมีความต้องการใช้สูง อีกทั้งวิวัฒนาการได้พัฒนารูปแบบการใช้ไปจากเดิม ซึ่งบริษัทมีความสามารถทำได้ เพราะปัจจุบันผลิตขวดพลาสติกที่ใช้บรรจุอาหาร เช่น ขวดนมพร้อมดื่ม
ผู้บริหาร กล่าวว่า สถานการณ์ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้เครื่องมือ-วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไม่เพียงพอ เช่น เข็มขีดยา ที่ใช้ฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ทั้ง 60 ล้านคน ๆ ละ 2 เข็ม ปริมาณการใช้เข็ม 120 ล้านเข็ม, ไซริงค์ (Syringes) ที่ไม่มีวัคซีนเหลือค้าง เพิ่มประสิทธิภาพการฉีดวัคซีน หรือชุดน้ำเกลือ พร้อมอุปกรณ์วาวล์-สายยาง อีกทั้งอนาคต นวัตกรรมทางการแพทย์ที่ใช้การเจาะเลือด มากขึ้น ความต้องการใช้หลอดเลือด เพื่อเก็บเลือดไปตรวจ มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น
“การหันมาศึกษาธุรกิจใหม่ PJW ซึ่งบริษัท มีจุดแข็ง ด้านนวัตกรรม ที่ผลิตในประเทศไทย, รู้กลไกลตลาด รวมทั้งมีห้องแรงดันบวก หรือห้องปลอดเชื้อที่เชื้อโรคไม่สามารถเข้าได้ ซึ่งบริษัทมีองค์ความรู้การผลิตพลาสติกอยู่แล้ว จึงเอื้อต่อธุรกิจใหม่ ซึ่งการเพิ่มทุน-ออกวอร์แรนต์ มึเหตุผลนำมารองรับธุรกิจใหม่นี้ ”
ผู้บริหารกล่าวและว่า ผลประกอบการปี 2564 เติบโตโดดเด่น จากปัจจัยหลัก 1. โรงงานพ่นสีรถยนต์ ไม่ต้องแบกสำรองขาดทุน 2. โรงงานผลิตพลาสติกที่จีนโรงงานที่ 2 เริ่มสร้างรายได้ 3. บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม กลับมาเติบโตในไตรมาส 3
ทั้งนี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวไว้ว่า การฉีดวัคซีนด้วยเทคนิค ” Low Dead Space ” syringes คือ ไม่ให้วัคซีน เหลือค้างในไซริงค์ จะมีวัคซีนเหลือในขวด ฉีดเพิ่มได้อีก 1-2 คน ซึ่งองค์การอนามัยโลก เห็นว่า สามารถทำได้และเกิดประโยชน์ โดยฉีดได้มากกว่าจำนวนโด๊ส ที่กำหนด ทำให้การเข้าถึงวัคซีนของประชาชนดีขึ้น
บล.พัฒนสิน มองหุ้น PJW เป็นหุ้นเทิร์นอะราวด์ในตลาด เอ็มเอไอ โดยเริ่มเห็นพัฒนาการเชิงบวกจากการเพิ่มประสิทธิภาพคนและเครื่องจักรตั้งแต่ไตรมาส 4/2562 (กำไร 46 ล้านบาท ) และการมาของโควิด ทำให้เห็นการปรับโครงสร้างต้นทุนธุรกิจครั้งใหญ่ในปี 2563 ทั้งบุคลากร , เพิ่มประสิทธิภาพงานและลดต้นทุนอื่น ๆ ทำให้ปี 2563 มีกำไรสูงสุดในรอบ 4 ปี จำนวน 115 ล้านบาท +82% y-y (กำไรทุกไตรมาส ) จาก Gross Margin ทำจุดสูงสุด 19.5%