HoonSmart.com>> บลจ.กรุงไทย เปิดขายกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ ชูทางเลือกกระจายพอร์ตลงทุนต่างประเทศทางเลือกลงทุนยุคดอกเบี้ยต่ำ เตรียม IPO กองทุนโกลบอล ฟิกซ์ อินคัม 1Y22 ตั้งแต่ 19-25 พ.ค.นี้
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย (KTAM) เปิดเผยว่า บริษัทเดินหน้าเปิดเสนอขายกองทุนตราสารหนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตไปยังต่างประเทศให้แก่นักลงทุนตราสารหนี้ในยุคที่อัตราดอกเบี้ยต่ำในปัจจุบัน โดยกองทุนที่กำลังเปิดเสนอขายระหว่างวันที่ 19-25 พ.ค.2564 นี้ คือ กองทุนเปิดกรุงไทย โกลบอล ฟิกซ์ อินคัม 1Y22 (KTGF1Y22) ซึ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ทั่วโลก อายุโครงการประมาณ 1 ปี เริ่มต้นลงทุนด้วยเงินขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท
กองทุน KTGF1Y22 นโยบายเน้นลงทุนในทรัพย์สินประเภทตราสารหนี้ รวมกันทุกขณะไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยกองทุนมี นโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ เงินฝาก และ/หรือตราสารการเงินที่มีอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหรือของผู้ออกตราสารอยู่ในอันดับ ที่สามารถลงทุนได้ (investment grade) และ/หรือลงทุนในหน่วย CIS ของกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในทรัพย์สินประเภท ตราสารหนี้
อย่างไรก็ตาม กองทุนอาจพิจารณาลงทุนในตราสารแห่งหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหรือของผู้ออกตราสารต่ำกว่า ที่ สามารถลงทุนได้ (non – investment grade) และ/หรือตราสารแห่งหนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated Securities) ไม่เกิน 20% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
ทั้งนี้ กองทุนจะพิจารณาลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่เสนอขายในต่างประเทศ โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน มีกลยุทธ์การลงทุนแบบครั้งเดียว (buy-and-hold) เหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการแสวงหาโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศภายในระยะเวลาประมาณ 1 ปี
สำหรับหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ ที่คาดว่าจะมีการลงทุนเกินกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนของกองทุน KTGF1Y22 คือ กองทุน Invesco Asian Bond Fixed Maturity Fund 2022 VIII ที่บริหารโดย Invesco บลจ.ระดับโลก โดยเน้นลงทุน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมในตราสารหนี้ ในภูมิภาคเอเชียที่อยู่ในสกุลเงิน USD ที่ออกโดยผู้ออกตราสารที่ถูกพิจารณาคัดเลือกโดยดุลยพินิจของผู้จัดการ (เช่น รัฐบาล หน่วยงานรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศที่มีลักษณะเหนือรัฐ (Supranational Entities) กลุ่มบริษัท สถาบันการเงิน และกลุ่มธนาคาร) ซึ่งอาจรวมถึงผู้ออกตราสารที่อยู่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ในกองทุนนี้ หมายถึง ประเทศทุกประเทศในทวีปเอเชีย ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น แต่รวมถึง ประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์