VNG ฟื้น งบ Q1/64 มีกำไร 129.5 ล้านบาท จากปีก่อนที่ขาดทุน 182.89 ล้านบาท

HoonSmart.com>>VNG เปิดงบไตรมาส 1/64 ฟื้นชัด! มีกำไร 129.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 171% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 182.89 ล้านบาท มั่นใจปีนี้ พลิกมีกำไรในรอบ 4 ปี อานิสงส์ตลาดส่งออกฟื้น เตรียมลุยขยายโปรดักส์ใหม่ พร้อมเดินหน้าขยายการลงทุนโรงไฟฟ้า วางเป้าภายในปี 65 ลดต้นทุนค่าไฟได้กว่า 30%

นายวรรธนะ เจริญนวรัตน์ กรรมการ บริษัท วนชัย กรุ๊ป (VNG) เปิดเผยผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อยในไตรมาส 1/64 มีกำไรสุทธิ 129.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 171% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีผลขาดทุน 182.89 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้รวมจากการขายอยู่ที่ 3,139.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้จากการขาย 1,231.0 ล้านบาท รับปัจจัยหนุนจากปริมาณขายแผ่นเอ็มดีเอฟ และแผ่นปาร์ติเกิ้ลเพิ่มขึ้นประมาณ 90% และ 45% ตามลำดับ ขณะที่ราคาขายเฉลี่ยของแผ่นเอ็มดีเอฟและแผ่นปาร์ติเกิ้ลเพิ่มขึ้นประมาณ 2% และ 5% ตามลำดับ

“มั่นใจว่าภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2564 จะพลิกกลับมามีกำไรในรอบ 4 ปี จากก่อนหน้านี้ประสบปัญหาขาดทุนซึ่งเป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ และการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งโครงสร้างรายได้ของบริษัท 80% มาจากการส่งออกไปยังกลุ่มตะวันออกกลาง เกาหลีใต้ และเวียดนาม อย่างไรก็ตาม หลังปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ สิ้นสุดลง และตลาดหลักในตะวันออกกลาง เกาหลีใต้ และ เวียดนาม เริ่มฟื้นตัว หลังมาตรการฉีดวัคซีนทำให้ควบคุมสถานการณ์โควิดได้ เป็นปัจจัยหนุนให้รายได้และกำไรในไตรมาส 1/64 ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ถือเป็นการส่งสัญญาณการเทิร์นอะราวด์อย่างเต็มรูปแบบในปีนี้”

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทฯ ยังได้มีการขยายผลิตภัณฑ์ใหม่แผ่นไม้ OSB และไม้แบบก่อสร้าง Shuttering Board โดยโรงงาน OSB กำลังการผลิต 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน แห่งใหม่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มูลค่าการลงทุนกว่า 2,300 ล้านบาท สร้างเสร็จและจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 3/64 ส่วนโรงงานไม้แบบก่อสร้างกำลังการผลิต 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ก่อสร้างจะแล้วเสร็จและดำเนินเครื่องเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาส 4/64

“กลุ่มบริษัทฯพยายามเพิ่ม Product Mix สินค้าที่มีราคาแพงเพิ่มขึ้น โดย VNG เป็นผู้ผลิตรายแรกของเอเชียที่ทำไม้ OSB ส่งออกและขายในประเทศ ถือเป็นธุรกิจใหม่ ที่ราคาสูงกว่าสินค้า Core products เดิมอย่าง MDF Board และ Particle board อีกทั้งไม้แบบก่อสร้าง Shuttering Board ยังมีความทันสมัย และใหญ่สุดในประเทศไทย ทดแทนการนำเข้ากว่าปีละ 10,000 ล้านบาท โดยเน้นขายในประเทศ”

สำหรับโครงการขยายการลงทุนพลังงานทดแทน ในช่วงที่ผ่านมาวางงบลงทุนรวมไว้ที่ 3,000 ล้านบาท ปัจจุบันได้เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงาน (Solar rooftop) ที่จังหวัดสระบุรี กำลังการผลิต 3.5 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชีวมวลที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการลงทุนโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมในจังหวัดสระบุรีและชลบุรี

โดยตั้งเป้าหมายภายในปี 2565 จะมีกำลังผลิตโรงไฟฟ้า Solar rooftop เพิ่มเป็น 20 เมกะวัตต์ และโรงงานไฟฟ้าพลังงานชีวมวล 40 เมกะวัตต์ เพื่อให้ลดต้นทุนทางการผลิตโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าได้ถึง 30% จากปัจจุบันที่ประมาณ 70% และคาดว่าจะใช้ระยะเวลาถึงจุดคุ้มทุนภายใน 4-5 ปี หลังจากขายไฟเข้าระบบ