สศช.ระบุ GDP Q1/64 ติดลบ 2.6% ทั้งปีลดเป้าเหลือโต 1.5-2.5%

HoonSmart.com>>สศช.ระบุจีดีพีไตรมาสแรกปีนี้ติดลบ 2.6% ผลจากการระบาดของโควิคในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะขยายตัวเพียง 1.5-2.5% ลดลงเดิมที่คาดเติบโต 2.5-3.5% หวังรัฐบาลคุมระบาดได้ตั้งแต่เดือนมิ.ย.เป็นต้นไป

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ระบุว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2564 ลดลงร้อยละ 2.6 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 4.2 ในไตรมาสก่อนหน้า (%YoY) และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2564 ขยายตัวจากไตรมาสที่สี่ของปี 2563 ร้อยละ 0.2

โดยด้านการใช้จ่ายมีแรงสนับสนุนสำคัญจากการกลับมาขยายตัวของการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่า 64,004 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาสร้อยละ 5.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.5 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการฟื้นตัวที่ชัดเจนของเศรษฐกิจโลกและการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลกและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายรัฐบาลและการขยายตัวเร่งขึ้นของการลงทุนภาครัฐ

ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลงร้อยละ 0.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า และการส่งออกบริการลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19

ส่วนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 2.0 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อนหน้า และสูงกว่าอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ -0.5 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 7.71 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.9 ของ GDP เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 อยู่ที่ 2.46 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 มีมูลค่าทั้งสิ้น 8,472,187.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 53.3 ของ GDP

สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2564 สศช.ได้ปรับลดเป้าหมายการเติบโตลงเหลือ ขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.5 จากเดิมเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.5-3.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก (2) แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ และ (3) การปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563

ทั้งนี้คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯจะขยายตัวร้อยละ 10.3 ขณะที่การอุปโภคบริโภคและ การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 1.6 และร้อยละ 4.3 ตามลำดับ ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.3 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 – 2.0 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 0.7 ของ GDP

“การปรับลดจีพีดีของไทยในปีนี้ลงเหลือ 1.5-2.5% อยู่บนสมมติฐานที่ว่า รัฐบาลน่าจะสามารถควบคุมการระบาดของโควิค-19 ระลอกนี้ได้ ตั้งแต่เดือนมิ.ย. เป็นต้นไป”

เลขา สศช.ระบุด้วยว่า การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2564 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศ เพื่อให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงและอยู่ในวงจำกัดโดยเร็ว และการป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรงในระลอกใหม่ โดยมุ่งเน้น (i) การบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคและป้องกันการระบาด (ii) การเร่งรัดจัดหาและกระจายวัคซีนให้กับประชาชนอย่างครอบคลุมทั่วถึงและเพียงพอ (iii) การพัฒนาศักยภาพของระบบสาธารณสุขให้เพียงพอต่อการรองรับการแพร่ระบาด และ (iv) การเร่งประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและชัดเจนให้แก่ประชาชนเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการเข้ารับวัคซีน

(2) การดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชน แรงงาน และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดและมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
(3) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า เพื่อสร้างรายได้จากต่างประเทศและสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง
(4) การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน

(5) การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยเร่งรัดการเบิกจ่าย (i) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 92.5 แบ่งเป็นรายจ่ายประจำร้อยละ 98.0 และงบลงทุนร้อยละ 70.0 (ii) งบเหลื่อมปี ไม่น้อยกว่าร้อยละ 85.0 (iii) งบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70.0 และ (iv) แผนงานและโครงการตามพระราชกำหนดฯ เงินกู้วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ให้มีการเบิกจ่ายสะสม ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80.0 ของวงเงินกู้

(6) การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ทันที ที่มีการกระจายวัคซีนทั้งในและต่างประเทศ โดยสศช.ได้ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้เหลือแค่ 5 แสนคน คาดเป็นรายได้ 1.7 แสนล้านบาท
(7) การรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ