“ชวัล” ผู้นำ “แอดเทค ฮับ” ธุรกิจที่โตล้อไปกับมือถือ

HoonSmart.com>>”แอดเทค ฮับ” ดิจิทัล คอนเทนต์ซัพพอร์ต ตัวแรกของตลาดหุ้น ที่โตล้อไปกับการเติบโตของโทรศัพท์มือถือ  “ชวัล บุญประกอบศักดิ์ ” ซีอีโอ ที่คอยหาโอกาสสร้างรายได้ให้บริษัท-ตอบแทนผู้ถือหุ้น มองการระดมทุน 440 ล้านบาท ได้กระสุนจำนวนมาก ใช้เพิ่มศักยภาพสร้างทีมต่อยอดทำสิ่งที่ถนัดได้อีกมาก เตรียมตัวพบกับหุ้นน้องใหม่ IPO ป้ายแดงแรงจัด สุดติ่ง ได้วันที่ 20 พ.ค.นี้ 

ชวัล บุญประกอบศักดิ์

ชวัล บุญประกอบศักดิ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ก่อตั้ง บริษัท แอดเทค ฮับ (ADD) มากว่า 15 ปี ซึ่ง “ชวัล-วิน ” เรียกตัวเองว่า “พ่อค้า” ผู้ที่เห็นช่องทางของโอกาส ในการสร้างรายได้ให้กับองค์กร  ที่ไร้ความเสี่ยง ควบคู่ด้วยการบาลานซ์ด้วยผลตอบแทนผู้ถือหุ้น

อาชีพพ่อค้าของ “ชวัล” ชื่อที่ดูแปลก แต่มีความหมายถึง “ความรุ่งโรจน์”

“ชวัล” กับความรุ่งโรจน์ของ แอดเทค … เด็กหนุ่มที่มีองค์ความรู้จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ใช่โปรแกรมเมอร์

จุดเริ่มต้นของ ADD
จุดเริ่มต้นในการเข้าสู่วงการดิจิทัล คอนเทนต์ เริ่มจากการร่วมทุนกับหุ้นส่วนที่เป็นชาวฮ่องกงซึ่งมีธุรกิจหลักเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์การ์ตูนค่ายหนังต่างประเทศ

จากลิขสิทธิ์การ์ตูนค่ายหนังดัง ๆ ต่างประเทศ “ชวัล” ได้นำลิขสิทธิ์การ์ตูนดัง มาทำเป็น wall Paper ที่อยู่บนจอโทรศัพท์มือถือ  แล้วขยับขยายลิขสิทธิ์การ์ตูน ไปอยู่บนบัตรเติมเงินโทรศัพท์มือถือ ไม่คิดค่าลิขสิทธิ์  เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ “ชวัล” รู้จักโอเปอร์เรเตอร์ หรือผู้ให้บริการค่ายมือถือเป็นต้นมา  อยู่ในจุดที่โอเปอร์เรเตอร์รักและให้การสนับสนุนมาต่อเนื่อง

“ ถ้าพูดแบบให้นึกภาพออก และเข้าใจง่าย ๆ ลิขสิทธิ์การ์ตูนที่ผม-เพื่อนได้มา เปรียบเหมือนการนำเข้าหนังต่างประเทศเข้ามาฉาย บางเรื่องก็ทำเงินมหาศาล บางเรื่องขาดทุน เช่นเดียวกับลิขสิทธิ์การ์ตูน บางตัวในต่างประเทศดังมาก แต่เมืองไทยไม่ได้รับความนิยม ลิขสิทธิ์บางชนิดก็ขาดทุน ทำได้ 2 ปีกว่า จึงเลิก และหันมาทำระบบหลังบ้านแทน “

“วิน” บอกว่า การอยู่ในวงการเทเลคอม ทำให้เห็นช่องการทำแพลท ฟอร์ม ผ่านมือถือ จึงได้ชักชวนพันธมิตรที่ทำระบบซัพพอร์ท ดิจิทัล ประกอบกับการที่ “วิน” รู้จักค่ายมือถือ จากการทำลิขสิทธิ์คาร์แรคเตอร์การ์ตูนชั้นนำในการทำโมบาย คอนเทนต์ จึงมาช่วยโอเปอเรเตอร์ ทำดิจิทัล คอนเทนต์ ซัพพอร์ต  เป็นระบบงานหลังบ้านระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) เป็นเวลากว่า 15 ปี

“วิน” ซีอีโอ หนุ่ม ขยายความว่า เดิมค่ายมือถือหรือ โอเปอร์เรเตอร์ (Operater) ทำ ดิจิทัล คอนเทนต์ เอง ซึ่งในตลาดมีผู้ผลิตคอนเทนต์จำนวนมาก แต่ระยะหลังค่ายมือถือทุ่มสรรพกำลัง กับการขยายเครือข่าย 4จี 5 จี  จึงยกงานให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ ในตลาดอย่างเช่น ADD ทำ เพื่อลดงานและต้นทุนของโอเปอร์เรเตอร์

สำหรับรายได้ของ ADD  “ชวัล” บอกว่า มาจากส่วนแบ่งของดิจิทัล คอนเทนต์ จากค่ายมือถือ ซึ่งแต่ละค่าย มีคอนเทนต์ที่ต่างกันและปริมาณไม่เท่ากัน

ฉะนั้น ยิ่งความต้องการใช้โทรศัพท์มือถือ และปริมาณธุรกรรมบนมือถือเติบโต ธุรกิจของ ADD ก็เติบโตล้อกันไปด้วย

นึกภาพง่าย ๆ บนโทรศัพท์มือถือที่ใช้กันในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่คุยกันเหมือนอดีต แต่ปัจจุบัน จะมีลูกเล่นต่าง ๆ ที่ผู้ใช้มือถือคุ้นเคย เช่น ไลน์, โมบายแบงก์กิ้ง, การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ผ่านมือถือ การโอนเงิน หรือแม้กระทั่งการซื้อสติกเกอร์ผ่านไลน์ ที่มีการโอนเงินเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัล รายการหลังบ้านที่ทำจะผ่านมือของ ADD ทั้งสิ้น ในฐานะผู้ทำดิจิทัล คอนเทนต์ให้กับค่ายมือถือ ยิงตรงไปยังธุรกิจที่เข้ามาเชื่อมกับค่ายมือถือ ทุกรายการที่เกิดขึ้น จะมีรายได้ส่วนหนึ่งของ ADD อยู่ด้วย

จะเห็นว่า ADD ไม่มีความเสี่ยง ไม่มีสินค้าต้องสต็อก มีเพียงต้นทุนมันสมองของทีมงานซึ่งเป็นสมองสำคัญและเป็นความเสี่ยงที่บริษัทได้ปิดตายความเสี่ยงนี้ โดยการสร้างสุขให้กับการทำงาน ให้ทีมงานมีความเป็นเจ้าของบริษัท ทีมงานมีความสุขกับการทำงาน ในสิ่งที่รัก และการเป็นเจ้าของ ผลงานจึงเป็นที่ประจักษ์และเกิดความเชื่อมั่นของลูกค้า

สิ่งสำคัญโอเปอร์เรเตอร์แต่ละข่าย มีเครือข่ายทั่วโลก มีโอกาสได้รับคำแนะนำ บอกต่อไปยังเครือข่ายประเทศอื่น ๆ ของค่ายโอเปอร์เรเตอร์ด้วย  ถือเป็นสิ่งสำคัญกับงานของ ADD  ด้วย

ซีอีโอ ADD บอกอีกว่า งานที่ผูกกับโอเปอร์เรเตอร์  มองกันว่า มีความเสี่ยงที่จะไม่ต่อสัญญา ซึ่ง ADD ได้ปิดความเสี่ยงนี้ โดยทำสัญญาระยะยาว 3 ปี  การส่งมอบงานที่ทำได้ดี มีคุณภาพ  จึงไม่มีเหตุไม่ต่อสัญญา

คุณภาพผลงานที่ออกมา ส่งผลรายได้ที่เติบโตต่อเนื่อง ย้อนหลังปี  2561-2563 กลุ่มบริษัทฯ  มีรายได้รวมและกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น โดยมีรายได้รวม  289.48 ล้านบาท 302.04 ล้านบาท และ 345.53 ล้านบาท ตามลำดับ กำไรสุทธิ  29.29 ล้านบาท 39.50 ล้านบาท และ 72.37 ล้านบาท

เมื่อถามถึงการเพิ่มทุน IPO จำนวน 40 ล้านหุ้น ซึ่งเป็นจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับความต้องการและกระแสโลกเทคโนโลยี การเพิ่มทุนเหมือน Gimmick หรือลูกเล่น เท่านั้น ซึ่ง “วิน” ยอมรับว่า  บริษัท ฯ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนมากนัก แต่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น ต่อยอดบริษัท

” เงินเพิ่มทุน จะใช้เป็นทุนหมุนเวียนต่อยอดธุรกิจให้เติบโตได้ตลอด เงินที่ได้ เหมือนการได้กระสุนจำนวนมาก ช่วยเพิ่มศักยภาพ สร้างทีมงานเพื่อให้บริษัทได้ทำในสิ่งที่ถนัด (ดิจิทัล คอนเทนต์ ซัพพอร์ต) ได้อีก ผมในฐานะพ่อค้า ที่รู้และเห็นช่องของโอกาส หาโอกาสที่ไม่มีความเสี่ยง ผมต้องบาลานซ์ทุกอย่าง เพื่อบริษัท เพื่อผู้ถือหุ้น และลูกค้า ” ซีอีโอ พ่อค้ากล่าวทิ้งท้าย

ข้อมูลบริษัท ADD  หลังเสนอขายหุน IPO จำนวน 40 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท (ราคาพาร์ ) จะมีทุนจดทะเบียนชำระแลว 80 ล้านบาท

บริษัท ฯ ประกอบ 3 ธุรกิจหลัก 1. ให้บริการสนับสนุนดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content Support) สัดส่วนรายได้ถึง 83% ของรายได้รวม 2. ให้บริการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Digital Solution) คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 17 % แต่การให้บริการในส่วนนี้จะมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในทุก ๆ ปี และ 3. ให้บริการสื่อและโฆษณาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ (Online Advertising) สัดส่วนรายได้น้อยกว่า 2% ของรายได้รวมซึ่งกำลังมีการพัฒนาเพิ่มขึ้น