ก.ล.ต.เผย Q1/64 ลงโทษทางแพ่ง 11 ราย ปรับ 72 ลบ. ดำเนินคดีอาญา 2 ราย

HoonSmart.com>> ก.ล.ต.เผยไตรมาสแรกปี 64 ดำเนินคดีมาตรการลงโทษทางแพ่งรวม 3 คดี ผู้กระทำผิด 11 ราย ปรับกว่า 72 ล้านบาท นำส่งคืนคลัง ดำเนินคดีอาญา 2 ราย และกล่าวโทษ 14 ราย พร้อมรับเรื่องร้องเรียน 811 เรื่อง ส่วนใหญ่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสูงสุด ด้านการระดมทุนขายหุ้น IPO มี 7 บริษัท มูลค่า 5.6 หมื่นล้านบาท ออกตราสารหนี้สูงขึ้นแตะ 4.71 แสนล้านบาท ส่วนธุรกิจกองทุนรวม-ส่วนบุคคล-สำรองเลี้ยงชีพโต

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สรุปข้อมูลสถิติสำคัญไตรมาสที่ 1 ปี 2564 มีการดำเนินคดีมาตรการลงโทษทางแพ่งโดยมีการตกลงทำบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนดจำนวน 3 คดี ผู้กระทำผิด 11 ราย ค่าปรับทางแพ่ง 72,418,955 บาท และมีการใช้เงินเท่าผลประโยชน์ที่ได้รับ 18,004,502 บาท ชดใช้เงินค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ 749,282 บาท ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำผิด เป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง

ส่วนการดำเนินคดีอาญามีจำนวน 2 ข้อหา จำนวน 2 ราย ปรับเป็นเงิน 1,346,250 บาท และมีการกล่าวโทษ 2 คดี จำนวนผู้ถูกกล่าวโทษ 14 ราย

นอกจากนี้ข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 811 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องที่ร้องเรียนเกี่ยวกับระบบการเก็บรักษาทรัพย์สินลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 218 เรื่อง ร้องเรียนเกี่ยวกับระบบ IT ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 104 เรื่อง ระบบงานของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ 53 เรื่อง เกี่ยวกับผู้บริหาร/กรรมการบริษัทจดทะเบียน 24 เรื่องและอื่นๆ 399 เรื่อง โดยมีจำนวนเรื่องที่รับดำเนินการ 22 เรื่องและจำนวนเรื่องที่ยุติทั้งหมด 789 เรื่อง

สำหรับข้อมูลการอนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์ประเภทตราสารทุน โดยเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 7 บริษัท มูลค่า 56,163.70 ล้านบาท น้อยกว่าไตรมาส 1/2563 มีมูลค่า 78,124.20 ล้านบาท ขณะที่จำนวนหุ้น IPO 7 บริษัทเท่ากัน ส่วนมูลค่าการเสนอขายตราสารทุนในครั้งต่อไปมีมูลค่า 18,484.18 ล้านบาท สูงขึ้นจากงวดปีก่อนอยู่ที่ 11,552.36 ล้านบาท

ส่วนมูลค่าการเสนอขายตราสารหนี้รวมทั้งสิ้น 471,954.56 ล้านบาท สูงกว่างวดปีก่อนอยู่ที่ 410,030.48 ล้านบาท เป็นการเสนอขายตราสารในประเทศ 403,059.76 ล้านบาท สูงกว่างวดปีก่อนอยู่ที่ 396,283.79 ล้านบาท แบ่งเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 187,576.69 ล้านบาท ลดลงจากงวดปีก่อนอยู่ที่ 227,815.96 ล้านบาท ส่วนตราสารหนี้ระยะยาวมูลค่า 215,483.07 ล้านบาท สูงขึ้นจากงวดปีก่อนอยู่ที่ 168,467.83 ล้านบาท ขณะที่การเสนอขายตราสารหนี้ต่างประเทศมูลค่า 68,894.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดปีก่อนอยู่ที่ 13,746.69 ล้านบาท

นอกจากนี้มีการออกตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม 3,000 ล้านบาทและตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน 15,000 ล้านบาท

ด้านมูลค่าการออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) จำนวน 1,302 ล้านบาท สูงกว่างวดปีก่อนอยู่ที่ 990 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมธุรกิจจัดการลงทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ธุรกิจกองทุนรวมเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 4,440,070 ล้านบาท สูงขึ้นจากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 4,313,375 ล้านบาท กองทุนส่วนบุคคลมีมูลค่า 2,090,274 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 2,061,368 ล้านบาทและกองทุนรวมสำรองเลี้ยงชีพมีมูลค่า 1,279,921 ล้านบาท จำนวน 366 กองทุน จากสิ้นปีก่อนมีจำนวน 368 กองทุน NAV 1,248,314 ล้านบาท

ภาพรวม employees’ choices ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ณ ส้้นปี 2563 มีจำนวน master fund 187 กองทุน จากสิ้นปีมี 179 กองทุน ส่วนจำนวนนายจ้างที่มี employees’ choices จำนวน 9,857 ราย เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 8,762 ราย

ส่วนการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการมีจำนวน 3 บริษัท มูลค่าหุ้นที่เสนอซื้อ 1,326 ล้านบาท มูลค่าหุ้นที่เกิดรายการซื้อขายจริง 286 ล้านบาท และไม่มีการเสนอซื้อเพื่อออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาด

ภาพรวมธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล มีศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) 8 ราย นายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) 5 รายผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Dealer) 1 ราย และผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) 4 ราย