โพลนักวิเคราะห์ชี้เป้าสิ้นปี 1,803 จุด แบงก์เด่นสุด

สมาคมนักวิเคราะห์ฯเผยผลสำรวจเป้าหมายดัชนีหุ้นสิ้นปีนี้ดีขึ้นเป็น 1,803 จุด ดัชนีความเชื่อมั่น 3 เดือนเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สี่ติดต่อกัน มองบวกเศรษฐกิจและการเมือง

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการและกรรมการผู้อำนวยการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) เปิดเผยว่า การสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนถึงแนวโน้มดัชนีหุ้นตลาดหลักทรัพย์ ณ วันสิ้นปี 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,803 จุด มากกว่าผลสำรวจของเดือนก.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าจะอยู่ต่ำกว่า 1,700 จุด ส่วนสิ้นเดือนส.ค.นี้ คาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,720 จุด

“ผู้ตอบแบบสอบถาม 48.15% มองว่าดัชนี้หุ้นในระยะสั้น เป็นไปในทิศทางบวก ส่วน 44.44% มอง Sideways หรือไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก และมีเพียง 7.41% มองว่าตลาดจะเปลี่ยนแปลงในทิศทางลบ “นายสมบัติกล่าว

ปัจจัยบวกต่อตลาดในช่วงที่เหลือของปี ได้แก่ เศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) รวมถึงการเมือง แนวโน้มการเลือกตั้ง ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ เศรษฐกิจต่างประเทศ ทั้งอเมริกา ยุโรป เอเชีย รองลงมา คือทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา และการเมืองในต่างประเทศ

สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นั้น นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาส 1/2562 คิดเป็น 44.44% รองลงมา คาดว่าเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 4/2561 สัดส่วน 37.04% ส่วนกำหนดการเลือกตั้ง นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า จะเกิดขึ้นในเดือน มี.ค.-พ.ค.2562 คิดเป็น 77.78% และคาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ของตลาดเฉลี่ยที่ 110.86 บาท ซึ่งผู้ตอบส่วนใหญ่คาดการณ์อยู่ที่ระดับ 110 – 114.99 บาท เติบโต 10.93%

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ต.ค.2561) เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สี่ติดต่อกัน โดยเพิ่มขึ้น 6.69% อยู่ที่ระดับ 108.11 แต่ยังอยู่ในเกณฑ์”ทรงตัว” ที่มีช่วงค่าดัชนี 80-120 หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคาร ส่วนกลุ่มเหล็ก ไม่น่าสนใจมากที่สุด

“ทิศทางการลงทุนที่ดีขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า เกิดจากนักลงทุนเชื่อมั่นการเติบโตเศรษฐกิจ คาดหวังว่าต่างชาติขายน้อยลง และเชื่อมั่นผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน แต่ยังคง กังวลเรื่องเงินทุนไหลเข้าออกระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายกีดดันทางการค้าและสงครามทางการค้า ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย”นายไพบูลย์กล่าว

ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปี และ 10 ปี ในช่วงประชุม กนง. รอบเดือนก.ย. 2561 (ประมาณ 11 สัปดาห์ข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 93 และ 87 ตามลำดับ โดยรุ่นอายุ 5 ปี เพิ่มขึ้นจากครั้งที่แล้ว จากระดับ 90 ในขณะที่รุ่นอายุ 10 ปี ลดลงจาก 92 สะท้อนถึงทิศทางการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั้ง 2 รุ่น แต่ในพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีมีระดับความเชื่อมั่นลดลง