SCBAM : “ดัชนี Composite PMI เดือน เม.ย. ขยายตัวในทุกประเทศหลัก”

๐ ตลาดหุ้นส่วนใหญ่มีความผันผวนในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจาก ปธน. Biden เผยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ‘American families Plan’ วงเงิน 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเน้นการดูแลเด็กและการศึกษา โดยจะใช้งบประมาณส่วนหนึ่งจากการปรับขึ้นอัตราภาษีบุคคลธรรมดาขั้นสูงสุด สำหรับผู้ที่มีรายได้ 4 แสนดอลลาร์ต่อปี ขึ้นเป็น 39.6% จากเดิม 37% และปรับขึ้นอัตราภาษีกำไรจากการลงทุน (Capital Gains Tax) กับผู้มีรายได้ 1 ล้านดอลลาร์ต่อปี ขึ้นเป็น 39.6% จากเดิม 20% อีกทั้งอาจมีแผนการปรับขึ้นภาษีอื่นเพิ่มเติม เป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้น อย่างไรก็ดี ความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งล่าสุดสหรัฐฯ และยุโรปมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนถึง 44.42% และ 23.01% ของจำนวนประชากรทั้งหมดตามลำดับ ประกอบกับผลประกอบการไตรมาส 1 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เบื้องต้นมีผลประกอบการที่ดี หนุนให้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นโดยรวมมีแนวโน้มที่ดีอยู่

๐ ดัชนี Composite PMI อย่างเป็นทางการในเดือน เม.ย. อยู่ในเกณฑ์ขยายตัวในทุกประเทศหลัก แต่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างบราซิลและอินเดีย ยังคงได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ โดยสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง -1.3 จุด เป็น 62.5 จุด โดยปรับตัวลงทั้งภาคการผลิตและการบริการและสวนทางกับที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 64.1 จุด แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงสุดในรอบหลายปี ส่วนดัชนียูโรโซนปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก +0.6 จุด เป็น 53.8 จุด และสูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ 53.7 จุด จากภาคการผลิตและการบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น สำหรับดัชนีรวมญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้น +1.1 จุด เป็น 51.0 จุด สูงสุดในเกือบ 2 ปี จากผลผลิตและยอดคำสั่งซื้อใหม่ทั้งภายในและภายนอกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

๐ รายได้ส่วนบุคคลและการใช้จ่ายในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่าคาดในเดือน มี.ค. โดยรายได้ส่วนบุคคล พลิกกลับมาขยายตัวที่ 21.1% MoM สูงสุดในรอบ 75 ปี จากที่หดตัว -7.0% ในเดือนก่อน และดีกว่าที่ตลาดคาดที่ 20.3% จากการเบิกจ่ายของมาตรการแจกเช็คเงินสดรอบที่ 3 ซึ่งได้คนละ 1,400 ดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใต้ลงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อนุมัติเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ขณะที่การใช้จ่ายส่วนบุคคลพลิกกลับมาขยายตัว 4.2% MoM ใกล้เคียงกับที่ตลาดคาด จากแรงหนุนของสวัสดิการภาครัฐ การผ่อนปรนมาตรการ Lockdown และการแจกจ่ายวัคซีนอย่างรวดเร็ว เพิ่มความเชื่อมั่นในการออกมาจับจ่ายใช้สอย

๐ GDP ไตรมาส 1 ของยุโรป หดตัว -0.6% QoQ จากการบังคับใช้มาตรการ Lockdown เพื่อคุมการระบาดของ COVID-19 อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นในระยะข้างหน้า จากการแจกจ่ายวัคซีนที่เริ่มเร่งตัวขึ้น ซึ่งจะหนุนให้มาตรการ Lockdown ถูกผ่อนปรน อีกทั้งแรงหนุนจากอุปสงค์ที่จะเพิ่มขึ้นมากหลังอัด โดยตลาดคาดว่าเศรษฐกิจยุโรปจะขยายตัวที่ 1.8% QoQ (12.6% YoY) ในไตรมาส 2

ตลาดตราสารทุน
ตลาดหุ้นไทย : แนะนำ “คงน้ำหนักการลงทุน”
ตลาดหุ้นเกาหลี : แนะนำ “คงน้ำหนักการลงทุน”
ตลาดหุ้นจีน : แนะนำ "เพิ่มน้ำหนักการลงทุนหุ้นจีน H-Shares" และ คงน้ำหนักการลงทุนหุ้นจีน A-Shares
ตลาดหุ้นยุโรป : แนะนำ “คงน้ำหนักการลงทุน”
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ : แนะนำ "เพิ่มน้ำหนักการลงทุน"
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น : แนะนำ “คงน้ำหนักการลงทุน”

ตลาดตราสารหนี้
ตราสารหนี้ไทย : แนะนำ “คงการลงทุน”
ตราสารหนี้ต่างประเทศ : แนะนำ “ลงทุนใน SCBFIN และ SCBUSHY”

สินทรัพย์ทางเลือก
ทองคำ : แนะนำ “คงน้ำหนักการลงทุน”
น้ำมัน : แนะนำ “คงน้ำหนักการลงทุน”
อสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน: แนะนำ "เพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน SCBPIN"