บล.กสิกรฯ หวังทดสอบ 1,600 จุด จับตาโควิด-กำไรบจ.สัปดาห์นี้

HoonSmart.com>>บล.กสิกรไทยคาดหุ้นสัปดาห์หน้าแกว่งในกรอบ  1,560-1,620 จุด ปัจจัยเดิมชี้นำ สถานการณ์โควิด ความคืบหน้าการกระจายวัคซีน กำไรบจ. ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนและคู่ค้า ส่วนค่าเงินบาททดสอบแนวต้าน 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยมองหุ้นสำหรับสัปดาห์ถัดไป (10-14 พ.ค.) ว่า ดัชนีหุ้นมีแนวรับที่ 1,575 และ 1,560 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,600 และ 1,620 จุด ตามลำดับ

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ความคืบหน้าการกระจายวัคซีนโควิด-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย รวมถึงผลประกอบการของบจ.งวดไตรมาส 1/2564 ตลอดจนความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนและคู่ค้า

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนเม.ย. ของจีน และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค.ของยูโรโซน

หุ้นกลับมาปิดที่ระดับใกล้เคียงกับสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,585.03 จุด เพิ่มขึ้น 0.12% ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 104,102.65 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.44% ส่วนดัชนี mai ลดลงเล็กน้อยที่ 0.01% มาปิดที่ 487.25 จุด

หุ้นร่วงลงแรงช่วงกลางสัปดาห์ตามแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับโควิด-19 ในประเทศ รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ หลังรมว.คลังสหรัฐฯ มองว่าเฟดอาจต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

อย่างไรก็ดี หุ้นฟื้นตัวกลับมาได้ในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มเติม รวมถึงการที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ ไทย ชะลอการปรับหลักเกณฑ์การคำนวณดัชนีหุ้นแบบใหม่ออกไป ซึ่งกระตุ้นแรงซื้อคืนหุ้นขนาดใหญ่บางตัว โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยี

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (10-14 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวที่ 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ

เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบจำกัดหลังจากขยับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงกลางสัปดาห์ และขยับอ่อนค่าลงในช่วงต่อมาท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด 19 รอบสามในประเทศ อย่างไรก็ดีเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงกดดันจากการที่ตลาดคลายความกังวลเกี่ยวกับการคุมเข้มนโยบายการเงินของสหรัฐฯ โดยรมว. คลังสหรัฐฯ ออกมากล่าวย้ำว่า ไม่ได้ต้องการแทรกแซงการตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยของเฟด และได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาวะเงินเฟ้อยังไม่ได้สร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

ในวันศุกร์ (7 พ.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.15 เทียบกับระดับ 31.14 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (30 เม.ย.)
 
 
อ่านข่าว

ดาวโจนส์ปิดบวก 229 จุด คลายกังวลดอกเบี้ยหลังตัวเลขจ้างงานต่ำกว่าคาด