“กองทุนน้ำมัน-หุ้นไทย” โชว์ผลตอบแทน 4 เดือนแรกสูงสุด “อสังหาฯ-ทอง” ติดลบ


โดย…มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) https://www.morningstarthailand.com/th
 
 
 
 
กลุ่มกองทุนผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุด-ต่ำสุดรอบ 4 เดือนแรกของปี 2021

กองทุนน้ำมัน หุ้นไทย สร้างผลตอบแทนสูงสุด

หากย้อนไปในปี 2020 กลุ่มกองทุนน้ำมันเป็นกลุ่มที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยต่ำสุดที่ -35% แต่กลับมีภาพที่ต่างกันอย่างชัดเจนในปีนี้ โดยใน 4 เดือนที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 32.9% และหากมองในระยะ 1 ปีจะพบว่ามีผลตอบแทนเฉลี่ยถึง 98.8% โดยกองทุนไทยมีการลงทุนผ่านกองทุนอีทีเอฟคือ Invesco DB Oil (DBO) หรือ United States Oil (USO) ที่มีผลตอบแทนรอบ 1 ปี ที่สูงกว่า 100% ซึ่งเป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันแม้ว่ากองทุนจะลงทุนผ่านสัญญาฟิวเจอร์น้ำมันดิบที่ต่างกันไปก็ตาม

แม้ว่ากองทุนหุ้นไทยมีผลตอบแทนที่ดูด้อยกว่ากองทุนต่างประเทศในปีที่แล้ว แต่ถือว่าสร้างผลตอบแทนได้โดดเด่นในปีนี้ โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นขนาดกลาง-เล็กที่เฉลี่ย 20.1% กลุ่มหุ้นขนาดใหญ่เฉลี่ยที่ 12% เทียบกับผลตอบแทน SET TR ที่ 10.7% ขณะเดียวกันกองทุนกลุ่ม Equity Fix Term เป็นการลงทุนในหุ้นไทยเช่นกัน แต่เป็นกองทุนที่เริ่มเปิดในรูปแบบกองทุนทริกเกอร์ ซึ่งมีผลตอบแทนเฉลี่ย 19.7%

กองทุนกลุ่ม Property – Indirect ยังคงติดลบต่อเนื่อง

กองทุนกลุ่ม Property – Indirect ที่ลงทุนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ในประเทศผ่านหุ้น กองทรัสต์ และมีบางส่วนลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งถือว่าได้รับผลกระทบเชิงลบในช่วงโควิด-19 เช่นส่วนที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ในช่วงแรกของปีนี้ยังไม่ต่างจากปีที่แล้วเท่าใดนัก ผลตอบแทนเฉลี่ยยังคงติดลบต่อเนื่องที่ -3.0% ทำให้ในรอบ 1 ปี อยู่ที่ -14.1%

กองทุนทองคำมีผลตอบแทนเฉลี่ยต่ำสุด -5.1%

กลุ่มกองทุนที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยต่ำสุดใน 4 เดือนที่ผ่านมาคือกลุ่มกองทุนทองคำที่ -5.1% โดยราคาทองคำในปีนี้อยู่ในระดับต่ำกว่า 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์มาตั้งแต่ต้นปี ลดลงมาที่ระดับ 1,700 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นภาพที่แตกต่างกับปี 2020 ที่ราคาทองคำมีการดีดตัวขึ้นไปที่ระดับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงไตรมาสที่ 3 อย่างไรก็ตามในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาถือว่าทิศทางราคาทองคำถือว่ามีการฟื้นตัวขึ้นมาบ้างแล้วจากผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 4.5%

ทองคำ vs น้ำมัน

หากจะเปรียบกองทุนรวมสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งสองชนิดในปีนี้จะเห็นได้ว่าน้ำมันดูมีผลตอบแทนที่ดูดีกว่า จากแนวโน้มการเริ่มฟื้นตัวเศรษฐกิจ ทำให้ความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้น ประกอบการการลดปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC จะเป็นปัจจัยที่ผลักให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นได้ ในขณะที่ราคาทองคำปีนี้มีความผันผวน พร้อมกับสถานการณ์เศรษฐกิจและตลาดหุ้นที่มีความกังวลน้อยลงกว่าปีที่แล้ว รวมทั้งความนิยมในสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวสอดคล้องกับตลาดหุ้น และถูกมองว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อาจแทนที่ทองคำได้ ก็ถือเป็นปัจจัยที่ไม่ได้ส่งผลดีต่อราคาทองคำเท่าใดนัก

อย่างไรก็ดีหากมองในแง่ของความเสี่ยงจะพบว่ากองทุนสินค้าโภคภัณฑ์ 2 ประเภทนี้มีความเสี่ยงที่ต่างกันค่อนข้างมาก ผลตอบแทนจากราคาน้ำมัน (12-month rolling return) โดยใช้กองทุนอีทีเอฟทั้ง 2 กองที่ได้กล่าวไปในช่วงต้น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเคยติดลบระดับ 40% ในช่วงปี 2015 และเคยติดลบมากที่สุดในปีที่แล้ว ขณะที่ผลตอบแทนกองทุนอีทีเอฟทองคำ SPDR® Gold Shares เคยติดลบมากสุดที่เกือบ 30% สะท้อนให้เห็นว่ากองทุนน้ำมันอาจเป็นทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงมาก ในขณะที่ทองคำอาจยังเป็นตัวเลือกให้ผู้ที่รับความเสี่ยงได้น้อยกว่า หากมีการจัดสัดส่วนได้อย่างเหมาะสมแล้วทองคำอาจเป็นตัวช่วยลดความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนได้ในช่วงที่ตลาดการลงทุนผันผวนผิดปกติ