หุ้นไทยดิ่ง จังหวะสะสม กนง.ไม่พร้อมขึ้นดบ.

HoonSmart.com>>หุ้นไทยร่วงหนักกว่าเอเชีย ฝีมือต่างชาติถล่ม 1 หมื่นล้าน เป็นโอกาสช้อน ภาพระยะกลางสดใส กนง.มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยที่ 0.5% ส่งสัญญาณนิ่งอีกนาน ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทยเผยเฟดมีอิสระตัดสินใจขึ้นหรือไม่ขึ้นดอกเบี้ย คาดคิวอีสูงอีกนาน 2 ปี มองโควิดระบาดรอบ3 กระทบหุ้นช่วงสั้น มีปัจจัยบวกรออยู่เพียบ นักวิเคราะห์ให้แนวรับ-แนวต้านให้เลือก  แบงก์ถูกสอยร่วงจากหลายปัจจัย เหมาะเก็บไว้ลงทุน ตลาดชะลอการใช้เกณฑ์ฟรีโฟลตใหม่

วันแรกของเดือนพ.ค.(5/5/64) หุ้นไทยถูกถล่มยับจากปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศ กดดันดัชนีดิ่งลงแรงเกินคาดถึง 33.91 จุด ร่วงหนัก -2.14% ปิดที่ระดับ 1,549.22 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายหนาแน่น 127,109 ล้านบาท ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียมีทั้งบวกและลบคละกัน

แรงขายมาจากฝีมือนักลงทุนต่างชาติทิ้งหนัก -10,475 ล้านบาท ผสมพอร์ตบล.อีก 2,064 ล้านบาท สถาบันขายเพียง 637 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนไทยช้อน 13,177 ล้านบาท

ตลาดที่ทรุดหนักนำโดยกลุ่มแบงก์-ท่องเที่ยว ดัชนีไหลลงแรงกว่า 3% อสังหาริมทรัพย์รูดกว่า 2% นักลงทุนตื่นตระหนกดอกเบี้ยจะกลับเป็นขาขึ้น หลังจาก “เจเน็ต เยลเลน” รัฐมนตรีคลังให้ความเห็นอัตราดอกเบี้ยอาจจะต้องปรับขึ้นบ้าง ด้านคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% สำหรับการประชุมในวันที่ 5 พ.ค. 2564  ห่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า นอกจากนี้ตลาดยังมีความกังวลสถานการณ์โควิดในปรเะทศพุ่งสูงจากคลัสเตอร์คลองเตย

ด้านตลาดหลักทรัพย์แจ้งผล Hearing เนื่องจากมีผู้ไม่เห็นด้วยจำนวนมากต่อเกณฑ์ฟรีโฟลตปรับน้ำหนัก SET50-100 ใหม่ จึงเลือกชะลอการใช้ออกไปก่อน บล.โนมูระพัฒนสิน มองประเด็นนี้จะพลิกกลับมาเป็นลบต่อกลุ่มธนาคาร BBL, SCB, KBANK และ SCC, CPALL, CPN จากเดิมมีความคาดหวังเงินจะเข้า แต่จะเป็นบวกต่อ AOT, DELTA, OR, GULF, PTTEP, ADVANC, SCGP จากเดิมกลัวเงินออก ในเชิงปัจจัยพื้นฐานมอง SCGP น่าสนใจที่สุด

” กลุ่มแบงก์ถูกขายออกมาหนักมาก นอกจากเกณฑ์ฟรีโฟลตเลื่อนการใช้แล้ว ยังกังวลเรื่องดอกเบี้ยขาขึ้นกระทบต้นทุนแล้ว คุณภาพสินทรัพย์ก็มีแนวโน้มแย่ลง จากการลุกลามของโควิดทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ราคาลงลึกมาก”

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า โควิด-19 รอบนี้คาดมีผลกระทบต่อหุ้นไม่มาก ตลาดอยู่ในช่วงขาขึ้นใน 12 เดือนข้างหน้า เม็ดเงินลงทุนต่างประเทศพร้อมจะเข้ามา เนื่องจากมี 5 ปัจจัยบวก อาทิ กำไรบจ.จะขยายตัว 32% ในปีนี้ และ 17% ในปีหน้า เศรษฐกิจเติบโต 1.5-2.5% รัฐบาลประกาศแผนการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม และ เร่งฉีดวัคซีน หุ้นเอเชียยังลดลงต่ำกว่าช่วงเกิดโควิด หุ้นไทยยังไม่แพงเมื่อพิจารณาจาก P/BV  แต่สิ่งที่ต้องติดตามคือแผนการกระจายวัคซีนว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่

ส่วนเรื่องที่เจเน็ต เยลเลนให้ความเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยอาจจะปรับขึ้น คิดว่ายังต้องรอเวลา การตัดสินใจอยู่ที่ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด คาดว่าคิวอียังคงอยู่อีกอย่างน้อย 2 ปี ทำใให้สภาพคล่องสูง แม้ว่าจะมีการปรับลด หรือถอนเงินออกบางช่วงบ้างก็ตาม  ทำให้หุ้นยังเป็นทรัพย์สินที่น่าลงทุนต่อไป

ด้านดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 124.37 จุด ลดลง 14.6% จากเดือนก่อน แต่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” อย่างต่อเนื่อง  หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO) และหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดแฟชั่น (FASHION)

บล.คันทรี่กรุ๊ปวิเคราะห์ว่า มีความเป็นไปได้ที่ทางสหรัฐจะปรับขึ้นดอกเบี้ย หากพิจารณาจากตัวเลขเศรษฐกิจ แต่กับประเทศไทยเชื่อว่าไม่อยู่ในจุดที่พร้อมรับต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นจากเศรษฐกิจที่เปราะบางมาก  คาดผลกระทบเรื่องนี้จำกัดต่อตลาดหุ้นไทย แต่ที่มีผลกระทบมองไปยังค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าจากส่วนต่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐที่สูงขึ้นมองเป็นบวกส่งออก

“หุ้นปรับฐานลงแรงเป็นโอกาสสะสมจากภาพระยะกลางที่ยังสดใส กลยุทธ์ระยะสั้นแนะนำ Global Play อาทิ น้ำมัน (PTT,PTTEP) ปิโตรเคมี (IVL,PTTGC, SCC) เดินเรือ (PSL,TTA) และหาก Domestic Play อาทิ ค้าปลีก (BJC ,CPALL, CRC) ศูนย์การค้า (CPN) โรงภาพยนตร์ (MAJOR) ให้เป้าหมาย IVL ที่  50 บาทและ PTTGC   75 บาท” บล.คันทรี่ระบุ

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า  กลุ่มธนาคารและไฟแนนซ์ลงมามาก กดดันตลาด เนื่องจากมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ประมาณ 10% อาจจะมีการตั้งสำรองที่สูงขึ้นในไตรมาสที่ 2 รวมถึงการชะลอปรับเกณฑ์การคำนวณดัชนีด้วยวิธี Free Float Adjusted Market Cap ทำให้กดดันกลุ่มนี้ช่วงสั้นด้วย

“หุ้นไม่ควรหลุดบริเวณแนวรับที่ 1,550 จุด แต่ต่ำกว่าจะลงไปทำจุดต่ำสุดเดิมที่ 1,530 จุด ในทางเทคนิคแล้ว เมื่อดัชนีหลุดแนวรับที่จุดต่ำสุดเดิม ดัชนีจะปรับตัวลดลงต่อ และเริ่มสร้างฐานใหม่ จากนั้นจะรีบาวด์กลับขึ้นได้”นายวิจิตรกล่าว

กลยุทธ์การลงทุนในช่วงระยะสั้น ควรเลือกหุ้นรายตัวที่มีกำไรดี โดยไม่ไล่ราคา ใช้จังหวะตลาดปรับย่อในการเข้าซื้อ แนะนำ ADVANC, SIS, AJ และASK ต่อมาในระยะกลางนั้นเลือกกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์   แนะนำ HANA และKCE ส่วนระยะยาวแนะนำกลุ่มธนาคารและท่องเที่ยว หากการกระจายวัคซีนฉีดครบทุกคนแล้ว และเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวในระดับหนึ่ง หรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ด้านนายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า มองกรอบแนวรับสำคัญที่ 1,530-1,540 จุด ในระยะสั้นแนะนำกลุ่มปิโตรเคมี และกลุ่มน้ำมัน หรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในวงจำกัด ส่วนระยะกลางแนะนำกลุ่มธนาคารและไฟแนนซ์ ใช้โอกาสตลาดปรับย่อเข้าซื้อสะสม และระยะยาวแนะนำกลุ่มท่องเที่ยว คาดจะฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565 แนะนำ MINT, CENTEL และAWC เนื่องจากฐานะการเงินแข็งแกร่ง

“เราแนะนำแบ่งไม้ซื้อแนวรับแรก 1,530-1,540 จุด ถ้าลดลงมาถึง 1,500 จุด เป็นโอกาสที่ดีในการสะสมหุ้น กรณีเลวร้ายสุด ที่ไม่มีทางที่จะหลุดแน่นอน ที่ 1,460-1,480 จุด” นายวีระวัฒน์ กล่าว

นายกรภัทร วรเชษฐ์ นักกลยุทธ์ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า แนวรับสำคัญที่ 1,510- 1,540 จุด เป็นโอกาสเข้าลงทุนระยะสั้นและระยะกลาง แนะนำ IRPC, SCGP, MEGA และCPF ส่วนการลงทุนระยะยาวนั้น ให้แนวรับ 1,463-1,490 จุด เลือกกลุ่มธนาคาร BBL และKBANKและท่องเที่ยว  เลือกบริษัทที่มีหนี้น้อย

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า ทรีนีตี้ ได้ปรับเพิ่มระดับยุติธรรมของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ขึ้น 50 จุด จากเดิมที่ 1,550 จุด เป็น 1,600 จุด ตามการปรับเพิ่มประมาณการกำไรบจ. คาดตลาดเดือนพ.ค.ดัชนีอยู่ที่ 1,550-1,650 จุด ไม่เกิดปรากฎการณ์ Sell in May เหมือนกับอดีต  โดยแบ่งธีมการลงทุนทั้งหมด 5 กลุ่ม เช่น กลุ่มปิโตรเคมี เลือก IVL, PTTGC, SCC 2.กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมส่งออก เลือก AH, SAT, SMT  กลุ่มโลจิสติกส์เลือก III, JWD, LEO, NYT, SONIC, WICE

บล.ไทยพาณิชย์คาดดัชนีจำกัดบริเวณ 1,600 จุด  กลยุทธ์พอร์ตลงทุนรอเข้าซื้อเฟสแรก 25% แถว 1,500 จุด ส่วนพอร์ตเก็งกำไรให้เลือกซื้อหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะ