SCC ไปได้อีกไกล SCGP-COTTO-GLOBAL กำไรหรู

HoonSmart.com>> ปี 2564 นับเป็นปีทองอีกปีหนึ่งของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) เห็นได้จากความแข็งแกร่งของกำไรสุทธิในไตรมาส 1 บริษัทในกลุ่มโชว์ผลงานโตโดดเด่นมาก หนุนไตรมาส 2 ขยายตัวต่อ สร้างความมั่นใจในการทะยานไปข้างหน้า จนนำไปสู่การปรับเพิ่มประมาณการกำไรในปี 2564-2565 และเป้าหมายของราคาหุ้นสูงกว่า 500 บาท จากนักวิเคราะห์หลายสำนัก

SCC ประกาศกำไรเหนือความคาดหมายมากถึง 14,914 ล้านบาท พุ่งขึ้น 113.9% จากไตรมาส 1/2563 และเติบโตกว่า 85% เทียบกับไตรมาส 4 ที่ผ่านมา แม้ว่าธุรกิจและเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม แต่ทุกธุรกิจสามารถเอาชนะสถานการณ์นี้ไปได้ด้วยดี ด้วยกลยุทธ์ “การซื้อกิจการ การขยายการลงทุน เพื่อมีขนาดใหญ่และครบวงจร พัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เสนอสินค้าและบริการตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างยั่งยืน” ทำให้บริษัทมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม 41,475 ล้านบาท คิดเป็น 34% ของรายได้จากการขายรวม ทั้งนี้ ยังมีสัดส่วนของการพัฒนาสินค้าใหม่ และ Service Solution เช่น โซลูชันพลังงานแสงอาทิตย์ โซลูชันบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ คิดเป็น 13% และ 5% ของรายได้จากการขายรวม

บริษัทดำเนิน 3 ธุรกิจหลัก คือ 1.ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ที่มีบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) เป็นเรือธง สร้างกำไรได้มากถึง 2,135 ล้านบาท แม้ว่าจะเผชิญปัญหาต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบสูงขึ้น บริษัทสามารถบริหารจัดการจนรักษาอัตรากำไรได้ดี รวมถึงการนำเสนอสินค้าที่ใช้นวัตกรรม และกลยุทธ์ Merger & Partnership สอดรับกับความต้องการที่สูงขึ้นของลูกค้าในอาเซียน พร้อมขยายตลาดในภูมิภาคต่าง ๆ รองรับเมกะเทรนด์

2.ธุรกิจเคมิคอลส์ ส่งกำไรให้บริษัทฯ จำนวน 8,829 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51% จากไตรมาสก่อน นำโดยบริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ ที่ตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นบริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ (TPC) เพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2560 ในไตรมาสนี้มีส่วนต่างราคาสินค้าและส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมเพิ่มขึ้้น SCC อยู่ระหว่างการศึกษาปรับโครงสร้างธุรกิจและนำบริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์เข้าตลาดหลักทรัพย์คาดจะแล้วเสร็จในปลายปี 2565 เพื่อสร้างกำไรพิเศษให้บริษัทแม่ในปี 2566

3.ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ผลงานดีขึ้นตามฤดูกาล โดยเฉพาะธุรกิจกระเบื้อง นำโดยบริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ (COTTO) จุดเกิดมาจากการควบ 5 บริษัทย่อยภายในเครือ SCG  ปัจจุบันถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท เซรามิคซิเมนต์ไทย สัดส่วน 82.75% มีกำไรสุทธิ 187 ล้านบาท เติบโตเกือบ 50% จากไตรมาสแรกปีก่อนที่ทำได้ 124.8 ล้านบาท มีรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น 8% ตามปริมาณ ขณะที่บริษัทสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายด้านการบริหารและการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง

กำไรที่ดีเกินคาด ส่งผลให้หุ้น COTTO เมื่อวันที่ 30 เม.ย. พุ่งแรงโดดเด่น ราคาเฉียดซิลลิ่ง ปิดที่ 2.10 บาท บวก 22.80% ด้วยมูลค่าการซื้อขายหนาแน่นถึง 3,171 ล้านบาท เป็นสัญญาณว่าหุ้นยังเป็นที่สนใจจากนักลงทุนชัดเจน

ขณะเดียวกัน บริษัทสยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) ที่มีบริษัท เอสซีจี ดิสทริบิวชั่น ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 32.27% ก็มีกำไรสูงถึง 966 ล้านบาท เติบโต 56.8% จากไตรมาส 1/2563 เนื่องจากการปรับกลยุทธ์การดำเนินงานให้สอดคล้องกับสภาวเศรษฐกิจ กระตุ้นยอดขายสินค้ากลุ่ม House Brand ทำให้มีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น

กลุ่ม SCG ได้หุ้นของบริษัทสยามโกลบอลเฮ้าส์ มาจากการเพิ่มทุนในราคาหุ้นละ 14 บาท เมื่อปี 2555 เพื่อต้องการขยายร้านวัสดุก่อสร้างและสินค้าตกแต่งบ้าน หลังเห็นโมเดลธุรกิจ “โกลบอล เฮ้าส์” ที่มีการเติบโตเร็วมากในต่างจังหวัด ซึ่งก็ไม่ทำให้ผิดหวัง โดยมีวิสัยทัศน์เป็นช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้างและสินค้าตกแต่งบ้านที่ดีทีสุดในภูมิภาคอาเซียน มีบริษัทย่อยที่กัมพูชา ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2564 มีสาขารวม 73 สาขา เพิ่มขึ้น 6 สาขาจากช่วงเดียวกันปีก่อน

นักวิเคราะห์หลายบริษัทปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 2564-2565 ของ SCC ส่งผลบวกต่อราคาหุ้นเป้าหมาย เช่น บล.คันทรี่กรุ๊ปให้ราคาใหม่ที่ 553 บาท บล.ไทยพาณิชย์ตีมูลค่า  550 บาท จากเดิมให้ไว้ที่ 475 บาท หลังปรับเพิ่มประมาณการกำไรปีนี้  25%  และ 20% ในปี 2565 บล.ยูโอบี เคย์เฮียนให้ราคา 545 บาท บล.บัวหลวง ตีมูลค่าใหม่ 520 บาท จากเดิม 460 บาท หลังปรับเพิ่มเป้ากำไรปีนี้อีก 10% มาอยู่ที่ 45,484 ล้านบาท บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ให้ราคาพื้นฐาน 496 บาท สเปรดปิโตรเคมีแข็งแกร่งต่อ แนวโน้มในไตรมาสที่ 2 ยังไปได้ดี ปรับเพิ่มคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2564-2565 ขึ้น 23% และ 17% ตามลำดับ  ดังนั้นเป้าหมายใหม่ยังห่างกับราคาในตลาดปิดที่ 462 บาท  สร้างโอกาสทำกำไรให้กับนักลงทุนที่สนใจลงทุน