SCC แหยงโควิด ขอโต10% ยกระดับคุม 6 จว. ฉุดท่องเที่ยว

HoonSmart.com>>”ปูนซิเมนต์ไทย”ยืนเป้ารายได้ปีนี้โต 5-10% “รุ่งโรจน์” ขอประเมินผลกระทบโควิด-19 ระบาดรุนแรงหลายประเทศก่อน ส่องแนวโน้มธุรกิจเคมิคอลส์-แพ็คเกจจิ้ง ไปได้ดี เน้นสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม ผลงานไตรมาสแรกทะลุเป้าดันหุ้นนิวไฮปิด 466 บาท จุดพลุกลุ่มปิโตรเคมี-พลังงานดันดัชนีใกล้แตะ1,600 จุด ศบค.ยกระดับ 6 จังหวัดควบคุมสูงสุด บล.โนมูระฯมองกระทบท่องเที่ยว-ร้านอาหาร-บริการ ด้านบล.หยวนต้าคาดกลุ่มร้านอาหารมีผลเล็กน้อย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยลดเป้าธุรกิจร้านอาหารปีนี้เหลือเพียง 3.82 – 3.94 แสนล้านบาท

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเป้ารายได้ในปี 2564 เติบโต 5-10% จากปีก่อนที่มีรายได้จำนวน 399,939 ล้านบาท แม้ว่าในไตรมาส 1 ทำได้ดีกว่าคาดการณ์ โดยมีรายได้จากการขายจำนวน 12122,066 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% และกำไรสุทธิ 14,914 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 85% จากไตรมาสก่อน และกำไรเพิ่มขึ้น 114% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในบางประเทศ เช่น อินเดีย ทำให้บริษัทต้องติดตามจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างไร ก่อนประเมินทิศทางการดำเนินงานในปีนี้อีกครั้ง

ส่วนแนวโน้มธุรกิจเคมิคอลส์ ยังมีความต้องการผลิตภัณฑ์สูงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก  แต่ธุรกิจก็มีการแข่งขันมากขึ้น จึงมีความไม่แน่นอนสูง บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นการขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (HVA) และเร่งการเข้าสู่ธุรกิจที่ตลาดมีการเติบโตสูง เช่น ธุรกิจด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ล่าสุดได้ซื้อหุ้นบริษัท ซีพลาสต์ ผู้นำด้านพลาสติกรีไซเคิลในโปรตุเกส ต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่และขยายช่องทางการขายในตลาดยุโรปได้ ส่วนโครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่เวียดนามคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในครึ่งแรกของปี 2566

นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับโครงสร้างธุรกิจเคมิคอลส์ และเตรียมนำบริษัท SCG Chemicals เข้าตลาดหลักทรัพย์ คาดว่าจะศึกษาและการปรับโครงสร้างจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2565 เพื่อรองรับโอกาสในการขยายธุรกิจเคมิคอลส์ในอนาคต

สำหรับธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ยังต้องดูการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของแต่ละประเทศ หากควบคุมได้ ความต้องการของตลาดน่าจะเติบโตไปได้ ส่วนตลาดไทย เช่นกลุ่มโรงแรม ความต้องการรองรับนักท่องเที่ยว นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันความต้องการหายไป  น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดในกลุ่ม จากไตรมาส 1 ตลาดวัสดุก่อสร้างในประเทศไทยเติบโตได้ราว 2-3% ธุรกิจแพ็คเกจจิ้ง ยังคงเติบโตได้ดี ด้วยการนำเสนอโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน

กำไรของ SCC ที่ดีเกินคาดในไตรมาส 1 ผลักดันให้ราคาหุ้นนิวไฮต่อเนื่อง ปิดที่ 466 บาท จุดพลุให้หุ้นในกลุ่มปิโตรเคมีและพลังงานปรับตัวขึ้นแรง ซึ่งมีน้ำหนักมาก ส่งผลให้ดัชนีหุ้นปิดที่ระดับ 1,590.46 จุด เพิ่มขึ้น 13.67 จุด หรือ +0.87% มูลค่าการซื้อขาย 89,565.47 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อต่อเนื่อง 806 ล้านบาท สถาบันไทยพลิกกลับมาซื้อสุทธิ 1,971  ล้านบาท ด้านนักลงทุนไทยขายต่อ  2,676  ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ตลาดที่ขึ้นแรงต่อเนื่อง และดัชนีเข้าใกล้แตะ 1,600 จุด อาจจะต้องใช้เวลาทดสอบ หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) แถลงปรับใช้พื้นที่สีแดงเข้ม ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ใน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกรุงเทพมหานคร, ชลบุรี, เชียงใหม่, นนทบุรี, ปทุมธานีและสมุทรปราการ ทั้งหมดมีผล 1 พ.ค.2564 เช่น ห้ามจัดกิจกรรม 20 คน ห้ามทานอาหารในร้าน เปิดบริการถึง 21.00 น. ร้านสะดวกซื้อเปิดตี 4-5 ทุ่ม และขอความร่วมมือประชาชนพื้นที่สีแดงเข้มงดการเดินทางออกนอกพื้นที่ และให้ส่วนราชการ- เอกชนจัด WFH มาตรการขั้นสูงสุดอย่างน้อย 14 วัน

ด้านบล.โนมูระ พัฒนสิน มองเป็นลบต่อกลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มบริการ กลุ่มร้านอาหาร

บล.หยวนต้า มองการยกระดับความเข้มงวดจะทำให้คุมโควิด-19 ได้ดีขึ้น แต่จะเป็น Sentiment เชิงลบเล็กน้อยต่อกลุ่มร้านอาหาร ซึ่งผู้บริโภคได้ปรับพฤติกรรมเป็นแบบ Take home อยู่แล้ว

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ โดยการประกาศยกระดับห้ามรับประทานอาหารภายในร้านของพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจและความเสี่ยงต่อการเลิกจ้างงาน กดดันกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง จึงปรับประมาณการรายได้ของธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 ลงเหลือ 3.82 – 3.94 แสนล้านบาท  จากคาดการณ์เดิมเมื่อสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 4.1 แสนล้านบาท

กลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิดรอบนี้คงจะเป็นกลุ่มร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ ขณะที่กลุ่มร้านอาหารที่มีการให้บริการอย่างจำกัด (Limited Service Restaurant) และร้านอาหารข้างทางที่มีพื้นที่หน้าร้าน (Street Food) น่าจะยังมีการขยายตัวเล็กน้อย